นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala วานนี้ (23 มี.ค.65) นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนและผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนี้
ปูตินต้อนรับโจ ไบเดนสู่ประชุมนาโต้
ขณะนี้ คะแนนนิยมของโจ ไบเดน ในด้านเศรษฐกิจตกต่ำมาก และเลือกตั้ง mid term เดือน พ.ย. 2022 ก็มีแนวโน้มจะแพ้ทั้งสภาสูงและสภาล่าง
มีประเด็นเดียวที่โจ ไบเดน ได้คะแนนนิยมสูง คือการสนับสนุนยูเครนสู้กับรัสเซีย ซึ่งคนอเมริกันติดตามเหมือนดูหนังคาวบอย
ประธานาธิบดีสหรัฐไล่ต้อนประธานาธิบดีรัสเซีย ไม่ใช้ลูกกระสุนแม้แต่ลูกเดียว แต่ใช้กติกาด้านเศรษฐกิจที่กำหนดเอาเอง
ที่ผ่านมา สหรัฐเป็นหัวหอก กระตุ้นให้ยุโรปเดินตาม บล็อคธนาคารรัสเซียออกจากระบบ swift และยึดอายัดทุนสำรองของธนาคารชาติรัสเซียไว้เกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์
มาตรการดังกล่าว ทำให้ธนาคารชาติรัสเซียแขนขาด้วนฉับพลัน ไม่มีเครื่องมือที่จะดูแลค่าเงินรูเบิ้ล รูเบิ้ลจึงร่วงไหลลง จะกลายเป็นเศษกระดาษ
นับว่าเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยใช้มาก่อน กับประเทศขนาดใหญ่ระดับ G20 เช่นรัสเซีย
สัปดาห์หน้า โจ ไบเดนจะเดินทางไปประชุมที่ยุโรป เพื่อขันน๊อต บีบคอปูตินให้หนักขึ้นไปอีก ซึ่งจะเรียกคะแนนนิยมในสหรัฐไปด้วยในตัว
แต่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ปูตินได้ออกมาตรการต้อนรับโจ ไบเดน เสียแล้ว
ทำให้เกิดผลทันที 2 อย่าง ราคาก๊าซในตลาดเนเธอร์แลนด์พุ่งขึ้นฉับพลัน 21% และค่าเงินรูเบิ้ลแข็งขึ้นทันตาเห็น
เป็นอันว่า แทบจะทั้งหมดในยุโรป อยู่ใน 48 ประเทศดังกล่าว
ขณะนี้ การชำระค่าก๊าซให้ Gazprom 58% เป็นสกุลยูโร อีก 39% เป็นสกุลดอลลาร์ เรียกได้ว่า เหลืออีกเพียง 3% ที่เป็นสกุลอื่น
ถามว่า ยุโรปจะดิ้นหลุดออกจากหมากกลใหม่ของปูตินได้ไหม?
ก๊าซที่ยุโรปใช้ผลิตไฟฟ้าและทำความร้อน 40% มาจากรัสเซีย และต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะเปลี่ยนเป็นแหล่งอื่นได้
เพราะแหล่งอื่นต้องขนส่งเข้ายุโรปทางเรือ ดังนั้น ยุโรปจึงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในการสร้างท่าเรือที่มีระบบท่อ เพื่อลำเลียงก๊าซออกจากเรือ ไปเก็บบนบก
ก๊าซธรรมชาติเหลว จะต้องรักษาอุณหภูมิติดลบต่ำกว่า 160 เซลเซียส และถังเก็บต้องทนแรงอัดได้สูง
อธิบายแบบชาวบ้าน ยุโรปถูกมัดมือชกเสียแล้ว
ถ้าไม่ซื้อก๊าซรัสเซีย ก็จะไม่มีไฟฟ้า จะต้องปิดโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ยุโรปจึงต้องกัดฟัน ต้องจ่ายเป็นสกุลรูเบิ้ล
ปัญหาที่จะเกิด ก็คือ ผู้ที่จะควบคุมปริมาณเงินสกุลรูเบิ้ลในโลกนี้ มีอยู่คนเดียว คือธนาคารชาติรัสเซีย
ย้อนกลับไปวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมจำได้ว่า เฮดจ์ฟันด์ที่โจมตีเงินบาท ตกใจอยู่ห้วงเวลาหนึ่ง ที่ธนาคารชาติของไทย ปิดตลาดเงินสกุลบาทในตลาดออฟชอร์
ทำให้อัตราดอกเบี้ยสกุลบาทในตลาดออฟชอร์ กระโดดพรวดขึ้นเป็นกว่า 1 พันเปอร์เซนต์ต่อปี!!!
ในกติกาเช่นนั้น เมื่อใดที่เฮดจ์ฟันด์ที่โจมตีเงินบาท สัญญาขายเงินบาทล่วงหน้าครบกำหนด แต่เมื่อไม่สามารถวิ่งหาซื้อเงินบาทในตลาดออฟชอร์ได้
ก็จะต้องคลานมาขอเจรจากับธนาคารชาติไทย
เมื่อนั้น ธนาคารชาติไทยจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแพงเท่าไหร่ก็ได้
ซึ่งถ้ามีการปิดตลาดออฟชอร์บาทเด็ดขาดจริงๆ รัฐบาลไทยก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าโครงการ IMF ซึ่งตั้งเงื่อนไขแบบโหดสุด
ที่ผมพาดพิงไปถึงต้มยำกุ้งนั้น เพียงเพื่ออธิบายว่า นโยบายนี้ของปูติน จะพลิกกลับความเจ็บปวดจากแซงชั่นได้ระดับหนึ่ง
ประเทศตะวันตกย่อมสามารถบีบไม่ให้รัสเซียขายสินค้าบางอย่างได้
แต่สำหรับสินค้าใดที่ประเทศตะวันตกเดือดร้อน ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องพึ่งรัสเซีย และจะไม่สามารถพึ่งแหล่งอื่นแทนได้ง่าย
สำหรับสินค้าเหล่านี้ รัสเซียจะกลับเป็นคนบีบยุโรปเสียแทน และปูตินจะให้เงินรูเบิ้ลแข็งขึ้นอีก เท่าไหร่ก็ได้
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ