เงินรูเบิลเริ่มแข็งค่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลแค่ไหน

01 เม.ย. 2565 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 15:27 น.

เงินรูเบิลของรัสเซียเริ่มฟื้นตัว แข็งค่าขึ้นแล้วเมื่อกลางสัปดาห์ แม้ว่าสหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตกจะกดดันทุกรูปแบบ กระทั่งนักวิเคราะห์ต้องตั้งคำถามว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียนั้นมีผลมากน้อยเพียงใด

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ค่าเงินรูเบิล ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อวันพุธ (30 มี.ค.) แม้ว่า สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรยุโรป จะระดมใช้ มาตรการคว่ำบาตร ลงโทษทางเศรษฐกิจต่อ รัสเซีย อย่างมากมายเพื่อตอบโต้การที่รัสเซียใช้กำลังทางทหารเข้าบุก ยูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจว่า มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซียนั้น ได้ผลแค่ไหน

 

ช่วงก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 85 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะอ่อนค่าลงไปถึง 150 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ในจังหวะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งงานนั้น ประธานาธิบดีไบเดน เชื่อมั่นว่า เป็นมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ “แข็งกร้าวที่สุด” เท่าที่เคยบังคับใช้กับประเทศหนึ่ง และว่า “ค่าเงินรูเบิลนั้นแทบจะลดค่าลงเป็นเศษหินทันที”

 

แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นเช่นนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินรูเบิลปรับตัวแข็งค่าขึ้นมา ท่ามกลางรายงานที่ว่า รัฐบาลเครมลินจะตั้งโต๊ะเปิดการเจรจาหยุดยิงกับยูเครน ขณะที่สหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตกยังคงจับต้นชนปลายตั้งคำถามเกี่ยวกับท่าทีล่าสุดของรัสเซียอยู่

ทาเนีย บาบินา นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายยูเครนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักเศรษฐศาสตร์กว่า 200 คนที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ต่อการขัดขวางการก่อสงครามของรัสเซีย ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวเอพีว่า สำหรับรัสเซียแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรายได้จากพลังงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของงบประมาณรัฐ และเป็นเครื่องสนับสนุนการบริหารประเทศและการก่อสงครามของรัสเซีย

 

ขณะที่เบนจามิน ฮิลเกนสต็อค และเอลินา ริบาโควา นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ( Institute of International Finance) เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธ (30 มี.ค.) ที่ชี้ว่า มาตรการแบนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ประกาศโดยสหรัฐ รวมทั้งอังกฤษที่จะเจริญรอยตามในปลายปีนี้ อาจไม่สร้างแรงกระเพื่อมได้มากพอหากประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ทำตาม

จะบีบรัสเซียคงต้องใช้เวลานานหน่อยนะ

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า หากอียู อังกฤษ และสหรัฐ แบนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกันถ้วนหน้า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวมากกว่า 20% ในปีนี้ (2565) ซึ่งมากกว่าระดับ 15% ที่เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

ทางด้านทำเนียบขาว และนักเศรษฐศาสตร์หลายราย โต้แย้งว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ซึ่งอาจจะเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าจะส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มปิดตัวจากการขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบต่างๆ หรือขาดแคลนเงินทุน แต่ผู้วิจารณ์คณะทำงานของไบเดน เห็นว่าการฟื้นตัวของค่าเงินรูเบิล แสดงให้เห็นว่า ทำเนียบขาวจะต้องลงมือทำอะไรมากขึ้นกว่านี้

 

แพท ทูมี วุฒิสมาชิกสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอพีด้วยว่า การฟื้นตัวของค่าเงินรูเบิล เป็นตัวบ่งชี้ว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อรัสเซีย ยังไม่สามารถเข้าทำลายเศรษฐกิจของรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นราคาที่ปูตินต้องจ่ายให้กับการก่อสงครามที่เกิดขึ้น

 

ขณะเดียวกันผู้นำประเทศพันธมิตรชาติตะวันตกของสหรัฐต่างมองว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียมากขึ้นอีก หนึ่งในนั้นคือนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งกล่าวในเวทีประชุมจี-7 ว่า ทุกประเทศสมาชิกควรเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซียที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่านั่นเป็นคำขอที่ยากยิ่งสำหรับประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้งเยอรมนี ที่ยังต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยอียูในภาพรวม ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียราว 10% และพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากกว่า 1 ใน 3

 

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ชาร์ลส ลิชฟิลด์ จาก Atlantic Council ให้ความเห็นว่า หากประเทศในยุโรปรีบลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้เร็วขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างแรงกระทบต่อรัสเซียได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ผลลัพธ์เช่นนี้อาจอยู่เหนือมติของชาติตะวันตกด้วยเช่นกัน