นายเดวิด มัลพาส ประธาน ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ออกมากล่าวระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ 2565 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเมื่อวันพุธ (20 เม.ย.) ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ ราคาอาหาร ปรับตัวสูงขึ้น และกระทบกลุ่มคนยากไร้มากที่สุด พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งนี้จะครอบคลุมระยะเวลาหลายเดือนและอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า (2566)
"โดยส่วนใหญ่แล้วผลลัพธ์จากสงครามครั้งนี้กำลังสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มคนยากจนทั่วโลก" นายมัลพาสกล่าว และยังเปิดเผยว่า ราคาอาหารปรับตัวขึ้นแล้ว 37% เมื่อเทียบรายปี และปรับตัวขึ้นมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นมาตรวัดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากไร้เพียงใด โดยพวกเขาต้องใช้จ่ายเงินซื้ออาหารมากกว่าภายในงบประมาณใช้จ่ายรายวันของพวกเขา
ทั้งนี้ ประธานเวิลด์แบงก์ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะขาดแคลนอาหาร พลังงาน และปุ๋ย ซึ่งสำคัญสำหรับวัฏจักรการเพาะปลูก กำลังสร้างวิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะกินเวลานานอย่างน้อยหลายเดือนและอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า
"ปัญหาเรื่องอาหารมีความรุนแรง...ราคาที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่มีฐานะยากไร้ที่สุด ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศยากจน และโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทรุนแรงที่สุด นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าประชาชนจะหันไปหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำลง หากไม่มีทางเลือกอื่น"
เพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ธนาคารโลกจะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนวงเงิน 1.7 แสนล้านดอลลาร์ตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการจัดสรรเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่ที่สุดของธนาคารโลก
ส่วนในประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 นายมัลพาสระบุว่า ธนาคารโลกจะจัดสรรงบประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับโครงการวัคซีนใน 81 ประเทศ ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้