การเรียกประชุมแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ วันที่ 18 เมษายน 2565 ที่กระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมพ่อค้าพืชไร่และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ต้องล่มไม่เป็นท่าอีกครั้ง เมื่อเกษตรกรภาคปศุสัตว์ทุกสมาคมพร้อมใจกันไม่เข้าร่วม สะท้อนภาพความล้มเหลวในการจัดการ จนฝ่ายที่เดือดร้อนมองไม่เห็นทางออก ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วมประชุม และจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางออกด้วยตนเอง
ไทม์ไลน์การแก้ปัญหา “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ยืดเยื้อมายาวนาน หลังราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดและยิ่งแพงมากขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากสองประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลกเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบสำคัญอย่างข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง
ไม่เพียง "ราคา" ที่สูงขึ้นแต่ "ปริมาณ" ก็ยังขาดแคลนด้วย ทั้งหมดกระทบไลน์การผลิตอาหารสัตว์ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ต่อเนื่องไปถึงราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องซื้อหา ซึ่งแม้จะเป็นผลพวงจากสงครามในอีกซีกโลก แต่การแก้ปัญหาภายในประเทศย่อมต้องมีทางออกเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศเอง
เสียงเรียกร้องให้รัฐเร่งเข้ามาแก้ปัญหานี้ดังระงมไปทั่วไทย ซึ่งแน่นอนว่ากระทรวงที่รับผิดชอบหลักคือกระทรวงพาณิชย์ที่มีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั่งกุมบังเหียนอยู่ แม้มีการเรียกประชุมหลายฝ่ายกันไปแล้วถึง 4 ครั้ง (15 มีค., 1 เม.ย., 7 เม.ย., 11 เม.ย.) โดยมีสมาคมที่เกี่ยวข้องทั้ง สมาคมการค้าพืชไร่ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เข้าร่วม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีข้อสรุป รวมถึงครั้งล่าสุด 18 เม.ย. ที่ล้มเหลวอีกครั้ง
ส่วนหนึ่งของความล้มเหลวเกิดจากมติที่ประชุมวันที่ 11 เม.ย. แตกต่างจากมติเมื่อวันที่ 1 เม.ย. โดยสิ้นเชิง เช่น การไม่ใช้ตัวเลขของกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐมาเป็นพื้นฐานในการหารือ อาทิ ตัวเลขความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นั่นจึงทำให้ผลการพิจารณาย่อมคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น
รวมถึง การตัดการพิจารณาข้อเสนอผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ออก เพียงเพราะมีพ่อค้าพืชไร่แจ้งว่า ข้าวโพดนั้นมีเพียงพอในการซื้อเพื่อสะสมสิทธิ์ในการนำเข้าข้าวสาลี โดยที่รัฐเองยังไม่ทราบว่าสิทธิ์ในการซื้อข้าวสาลีอยู่ในมือใครและมีเท่าไหร่ ซึ่งการปลดล็อกมาตรการ 3:1 ไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวโยงกันกับกรณีนี้
นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีการพิจารณาการลดภาษีกากถั่วเหลือง 2% ด้วย นี่จึงมิใช่การประชุมที่มีเป้าประสงค์ แก้ปัญหาปริมาณและราคาวัตถุดิบเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์สำหรับประชาชนแต่อย่างใด แม้ล่าสุดจะมีมติอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ได้ภายใน เม.ย.-ก.ค. แต่ระยะเวลาเบียดเข้ามาจนหมดไปครึ่งเดือน เมย.แล้ว ขณะที่ปริมาณที่จะอนุมัติให้นำเข้าก็ปรับลดลงกว่าที่หารือกันช่วงแรกจนแทบไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แบบนี้เป็นใครก็คงยอมแพ้และถอดใจ
อันที่จริง กระทรวงพาณิชย์มีข้อเท็จจริงรอบด้าน และสามารถตัดสินใจเพื่อส่วนรวมได้ไม่ยาก แต่กลับดูมีเป้าหมายบางอย่าง และส่งผลให้การแก้ปัญหายืดเยื้อบานปลาย
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ หนึ่งในภาคีที่เคยเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว 4 ครั้ง ระบุผ่านสื่อว่า ไม่เคยได้อะไรจากที่ประชุม ทั้งที่สิ่งเดียวที่ต้องการให้รัฐช่วยคืออย่าให้ต้นทุนการผลิตขึ้น หากรัฐประคองต้นทุนได้ เกษตรกรจะประคองราคาไข่ได้ แต่หากรัฐประคองต้นทุนไม่ได้ ต้องยอมให้ไข่ขึ้นราคา ขณะที่ราคาข้าวโพดและวัตถุดิบขึ้นเช้าขึ้นเย็น ขึ้นไม่มีเพดาน ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปสังคมเดือดร้อนแน่ โดยตนได้เตือนเกษตรกรรายย่อย-รายกลางให้พึ่งตัวเอง โดยขายแม่ไก่ปลดเพื่อเก็บเงินสดบางส่วนไว้ก่อน และแนะให้ชะลอการเลี้ยงไก่ไข่ลงแล้ว
หลังการประชุมเมื่อ 11 เม.ย กลุ่มพ่อค้ายังออกมาให้ข่าวบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ทำให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยต้องออกหนังสือยืนยันว่า สมาคมฯไม่มีอำนาจประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามที่พ่อค้าสร้างความสับสนว่ามีประกันราคาที่ 12.50 บาท/กก. รวมถึงไม่รับข้อเสนอห้ามขึ้นราคาอาหารสัตว์ และย้ำว่าตัวเลขผลผลิตข้าวโพดหลังนามีเพียง 0.39 ล้านตัน มิใช่ 0.83 ล้านตันตามที่พ่อค้าเพิ่มตัวเลขเอาเอง
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า รัฐมนตรีไม่แตะต้องกลุ่มพ่อค้าพืชไร่เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้กุมวัตถุดิบทั้งหมดในมือ ทำกำไรจากสต็อกข้าวโพดที่กักตุนไปมหาศาล และจำนวนข้าวโพดหลังนาที่ออกมาบิดเบือนว่ามีมากถึง 0.83 ล้านตันนั้น มีแนวโน้มว่าเป็นตัวเลขที่จะนำข้าวโพดชายแดนเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นข้าวโพดไทย การที่พ่อค้าให้ข่าวตั้งราคาประกัน 12.50 บาทต่อกิโลกรัมก็เพื่อประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐปล่อยให้ข้าวโพดและวัตถุดิบขึ้นราคาไปได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ให้ขึ้นราคาขายเนื้อสัตว์ นี่มันตรรกะอะไรกัน
บทบาทภาครัฐควรต้องให้ความเป็นธรรมและจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างโปร่งใส ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการประชุมทั้ง 5 นัด ก่อเกิดคำถามอย่างกว้างขวาง ถึงความสามารถในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์