ส่องโปรไฟล์ “บองบอง มาร์กอส” เต็งหนึ่งเลือกตั้งปธน.ฟิลิปปินส์  

09 พ.ค. 2565 | 05:06 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 12:29 น.

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกระดับอีกประมาณ 18,000 ตำแหน่งเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ (9 พ.ค) นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ปี บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นตัวเต็งหนึ่งจากโพลสำรวจของหลายสำนัก

เรามาทำความรู้จัก เต็งหนึ่งคนนี้กันให้มากขึ้น โปรไฟล์ของเขาไม่ธรรมดา นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1957 (พ.ศ.2500) เป็นบุตรชายคนเดียวของ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนางอิเมลดา มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง

 

ตัวนายบองบอง ประธานพรรคสมาพันธ์แห่งฟิลิปปินส์ เป็นนักการเมืองชาวฟิลิปปินส์และเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของประเทศฟิลิปปินส์ โดยก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นผู้ว่าการจังหวัดฮีลากังอีโลคอสถึง 2 สมัย คือระหว่างปี 1983–1986 และปี 1998–2007 จากนั้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองระดับประเทศโดยเข้ารับการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรเขต 2 จังหวัดอีโลคอส ซึ่งเป็นฐานเสียงของตระกูล 

 

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบุตรชายของอดีตผู้นำเผด็จการอย่างนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อ ซึ่งครองอำนาจยาวนานถึง 2 ทศวรรษ และถูกพลังประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่งจนต้องระหกระเหินหนีออกนอกประเทศในปี 2529 แต่ดูเหมือนว่าชาวฟิลิปปินส์ยุคใหม่จะถูกกดดันทางเศรษฐกิจและต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงกระทั่งพวกเขาพร้อมจะลืมอดีต และให้โอกาสคนตระกูลมาร์กอสอย่างนายบองบอง กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง

บองบอง มาร์กอส มีคะแนนนำในหลายโพลสำรวจ

หลังจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจ(ภายใต้กฎอัยการศึก) ของมาร์กอสผู้พ่อ ถูกโค่นล้มลง และตระกูลมาร์กอสลี้ภัยไปอยู่ที่ฮาวาย กระทั่งนายมาร์กอสผู้พ่อ เสียชีวิตที่ฮอนโนลูลูเมื่อปี 2532 สมาชิกตระกูลมาร์กอสรวมทั้งนางอิเมลดา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ในขณะนั้น (โดยการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโคราซอน อากีโน) ให้เดินทางกลับประเทศฟิลิปปินส์ได้ในปี 2534 พวกเขาเริ่มกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมา

นางอิเมลดาลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ถึง 4 สมัย ทั้งยังเคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ 2 ครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ “บองบอง” ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ สมาชิกสภาคองเกรส และสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  

 

นอกจากนี้ “บองบอง” ยังเคยชิมลางลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2559 แต่เขาพ่ายแพ้อย่างสูสี จนนำไปสู่การต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยฝ่ายบองบองยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในปีนั้นว่า มีคะแนนเสียงอีกราว 3.9 ล้านเสียงที่เป็นของเขา สูญหายไปจากผลนับคะแนนอย่างเป็นทางการ

 

สำหรับชีวิตส่วนตัว “บองบอง” หรือนายมาร์กอสจูเนียร์ เขาสมรสแล้วกับหลุยส์ อาราเนตา มาร์กอส เธอมีอาชีพเป็นทนายความ ทั้งคู่มีบุตรชาย 3 คน ซึ่งคนหนึ่งก็โตพอจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ด้วย

ฐานเสียงสำคัญของบองบองและคนในตระกูลมาร์กอสคือจังหวัดอีโลคอส ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายมาร์กอสผู้พ่อ และปัจจุบันก็มี “อีมี มาร์กอส” พี่สาวของเขาเป็นส.ว.และเป็นอดีตผู้ว่าฯ จังหวัดนี้

คนฟิลิปปินส์พร้อมจะให้โอกาสคนในตระกูลมาร์กอส กลับมาปกครองประเทศอีกครั้งหรือไม่

ในสายตานักวิเคราะห์การเมืองฟิลิปปินส์ “บองบอง” มีอีกข้อได้เปรียบคือ เขาสามารถเข้าถึงเยาวชนและคนรุ่นใหม่ของฟิลิปปินส์ โดยทุ่มหาเสียงในสื่อโซเชียลมีเดียหนักมากเพื่อดึงพลังของคนรุ่นใหม่มาอยู่ข้างเขา ที่สำคัญคือคนเหล่านี้ เกิดหลังการปกครองของนายมาร์กอสผู้พ่อ จึงไม่เคยลิ้มรสความเจ็บปวดและความยากลำบากของการถูกปกครองภายใต้กฎอัยการศึกและผู้นำที่เป็นเผด็จการ

 

บองบองจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ตระกูลของเขา และจะเปลี่ยนโฉมหน้าของฟิลิปปินส์ได้อีกครั้งหรือไม่ อีกไม่นานก็คงได้รู้คำตอบกันแล้ว