มาเลย์จ่อระงับส่งออกไก่บางส่วน เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ กระทบหลายประเทศรวมทั้งไทย

25 พ.ค. 2565 | 03:34 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 14:45 น.

มาเลย์จ่อระงับส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัว/เดือน เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะกระทบหลายประเทศที่นำเข้าไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย

รัฐบาลมาเลเซีย แถลงว่า มาเลเซีย จะระงับ การส่งออกไก่ จำนวน 3.6 ล้านตัวต่อเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ รวมถึงจะตรวจสอบข้อร้องเรียน การผูกขาดราคา โดยกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ในตลาด หลังจากที่ได้มีการเรียกประชุมผู้ค้าและจำหน่ายสัตว์ปีกรายใหญ่ของประเทศเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ค.) เพื่อหารือถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือและจัดหาซัพพลายเนื้อไก่ในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซียได้หารือกับบริษัทจำหน่ายและกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีก 12 แห่ง ได้แก่ Leong Hup Poultry Farm Sdn., HLRB Broiler Farm Sdn., PWF Corporation Bhd. รวมถึงสมาคมเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ปีกแห่งมาเลเซีย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นการประชุมว่าด้วยการระงับการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก

มาเลเซียจะระงับการส่งออกเนื้อไก่บางส่วนเริ่มในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อดูแลซัพพลายและราคาภายในประเทศ

นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซียรายใหญ่ โดย 1 ใน 3 ของเนื้อไก่ที่สิงคโปร์นำเข้านั้นมาจากมาเลเซีย ขณะเดียวกัน คาดว่ามาตรการนี้ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อไทย บรูไน ญี่ปุ่น และฮ่องกงด้วย

การห้ามส่งออกเนื้อไก่เป็นมาตรการชุดล่าสุด ที่รัฐบาลมาเลเซียนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าในประเทศที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามสกัดราคาอาหารที่พุ่งสูง โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสงครามในยูเครน (อ่านเพิ่มเติม: วิกฤตอาหารโลก เริ่มแล้ว!หลายประเทศห้ามส่งออกอาหาร  )

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังระบุว่า คณะกรรมการกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดของมาเลเซียกำลังตรวจสอบรายงานที่ว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดควบคุมราคาและปริมาณการผลิตเนื้อไก่ โดยรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเข้มงวดหากพบว่ามีบริษัทใดก็ตามสร้างความเสียหายต่ออุปทานเนื้อไก่

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นมาตรการจำกัดการส่งออกอาหารที่เกิดขึ้นล่าสุดในภูมิภาค ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียได้ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มชั่วคราว ขณะที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี ส่วนเซอร์เบียและคาซัคสถานจำกัดโควตาการส่งออกธัญพืช (อ่านเพิ่มเติม: "อินเดีย" ซ้ำเติมวิกฤตอาหาร เล็งจำกัดส่งออกน้ำตาลครั้งแรกในรอบ 6 ปี)

วิกฤตอาหาร : ประเทศไหนบ้าง "จำกัด-ระงับ" การส่งออก

 

เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวของมาเลเซีย มีเสียงสะท้อนจากร้านค้าเนื้อไก่บางร้านในตลาดสดของสิงคโปร์ โดยรายงานข่าวระบุว่า หลังจากมาเลเซียห้ามส่งออกเนื้อไก่ พวกเขาอาจจะต้องปิดร้านชั่วคราว


นอกจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดหลักแล้ว มาเลเซียยังส่งออกเนื้อไก่มายังประเทศไทย ญี่ปุ่น และฮ่องกง


นอกจากการควบคุมการส่งออกเนื้อไก่แล้ว ผู้นำมาเลเซียยังเผยว่า จะส่งเสริมให้มีการเก็บสต็อกเนื้อไก่, ยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าเนื้อไก่กับบางประเทศ และให้คำมั่นว่าจะสอบสวนข้อร้องเรียนเรื่องที่มีการขายเนื้อไก่เกินราคาควบคุม


ทั้งนี้ มาเลเซียกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น 2.2% เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น 4%