นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หลังจากเขาแสดงความเห็นวานนี้ (6 มิ.ย.) ว่า ภาคครัวเรือนในญี่ปุ่นเริ่มยอมรับ ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แล้ว ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนที่กำลังอ่อนไหวต่อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในเวลานี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเคนจิ คัตซึเบะ สมาชิกสภาจากพรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่นกล่าวว่า คำพูดดังกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลาง แสดงให้เห็นว่า นายคุโรดะไม่เข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
แม้แต่นายโคอิชิ ฮากิอูดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ยังกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ความเห็นของนายคุโรดะ เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง
ไม่เพียงเท่านั้น ความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่น ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดีย โดยประชาชนจำนวนมากได้ติดแฮชแท็กว่า "เรารับไม่ได้เรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น" เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นของพวกเขาบนโลกออนไลน์
"เราซื้อของเพราะจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพราะรับได้ที่สินค้าราคาแพงขึ้น ทุกคนล้วนเจ็บปวดจากสินค้าราคาแพง" ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งระบายความคับข้องใจ
ทางด้านนายคุโรดะเอง เมื่อเจอกระแสวิจารณ์ในเชิงลบ ก็ออกมายอมรับว่า คำพูดของเขาอาจฟังดูไม่เหมาะสม แต่เขาต้องการที่จะสื่อว่า จำเป็นต้องมีการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นด้วย
"เราไม่ได้ตั้งเป้าเพียงแค่ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ต้องการสร้างวัฏจักรเชิงบวก คือให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับการค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง" นายคุโรดะพยายามอธิบาย
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อตัวหนึ่ง ในเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ BOJ กำหนดไว้ เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
ในขณะเดียวกัน เช้าวันอังคาร (7 มิ.ย.) ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ยังดิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นและสหรัฐที่ปรับตัวกว้างขึ้น นักลงทุนคาดการณ์ว่า BOJ อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อสกัดการร่วงลงของเงินเยนในเร็ววันนี้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เงินเยนอ่อนค่าลง 0.3% สู่ระดับ 132.33 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2545 หรือต่ำสุดในรอบ 20 ปี หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ทะยานขึ้นเหนือระดับ 3%
นายทาคูยะ คันดะ กรรมการผู้จัดการบริษัท Gaitame.com Research Institute กล่าวว่า ในบรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเพียง ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเขาคาดว่าเงินเยนจะร่วงลงแตะระดับ 132-133 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะแตะเป้าหมายทางเทคนิคระดับต่อไปที่ 135.15 เยนต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ นักลงทุนแห่เทขายเงินเยนอย่างหนักในปีนี้ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนลดการถือครองเงินเยนและหันไปซื้อดอลลาร์สหรัฐซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่ BOJ ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงิน แม้ว่าต้องเผชิญกับการทรุดตัวของเงินเยนก็ตาม
นายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของเงินเยนอย่างใกล้ชิด และย้ำว่าเงินเยนที่เคลื่อนไหวอย่างไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานนั้น อาจจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจ
ขณะที่นายเออิสุเกะ ซากากิบาระ อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเจ้าของฉายา “มิสเตอร์เยน” คาดการณ์ว่า เงินเยนมีแนวโน้มจะทรุดตัวลงอีกจนถึงระดับเดียวกันกับเมื่อปี 2533 เนื่องจากนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐมีทิศทางที่แตกต่างกันมากขึ้น
"ความแตกต่างระหว่างนโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของ BOJ ยังคงเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุด ที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก และคาดว่าเงินเยนจะเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยนี้ต่อไปจนกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศจะหดแคบลง" นาย ซากากิบาระกล่าวในที่สุด