จีนโต้สหรัฐ ใครกันแน่? ต้นเหตุ 'วิกฤตอาหารโลก'

13 มิ.ย. 2565 | 01:31 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2565 | 08:48 น.

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ สืบเนื่องจากสงครามในยูเครน โดยจีนและสหรัฐต่างกล่าวหากันและกันว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้วิกฤตอาหารโลกมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

วิกฤตอาหารโลก กลายเป็นประเด็นร้อนจุดชนวนวิวาทะระหว่างประเทศ เมื่อทั้ง จีน และ สหรัฐ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่า คือ "ตัวการ" ที่ทำให้ ราคาอาหารโลก พุ่งทะยาน หลายประเทศต้องพบกับภาวะขาดแคลน และ ความไม่มั่นคงด้านอาหาร 

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไชน่า เดลี่ สื่อของทางการจีน ได้ตีพิมพ์บทความกล่าวหารัฐบาลกรุงวอชิงตัน โดยระบุว่า "ราคาอาหารโลกได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการส่งออกธัญพืชของรัสเซียและยูเครนต่างประสบภาวะชะงักงันเนื่องจากอุปสรรคในการขนส่งที่ท่าเรือต่าง ๆ และมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก”

 

ขณะที่ฝ่ายสหรัฐกล่าวหากลับว่า จีนต่างหาก คือผู้กักตุนอาหารรายใหญ่ ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้กล่าวไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหารคือความกังวลที่สุดของรัฐบาลจีน พร้อมเร่งเร้าให้เกษตรกรจีนเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อรับประกันว่าประเทศจีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก จะสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติในครั้งนี้

 

ทั้งนี้ วีโอเอระบุว่าได้สอบถามไปยังนาย เจมส์ โอไบรอัน หัวหน้าสำนักงานความร่วมมือด้านมาตรการลงโทษ (Office of Sanctions Coordination) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ว่า จีนกับสหรัฐจะสามารถร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารโลกในครั้งนี้ได้หรือไม่ และอย่างไร

นายโอไบรอันตอบว่า "เราต้องการเห็นจีนทำตัวเป็นมหาอำนาจในการช่วยแก้ปัญหาในตลาดอาหารโลกเช่นกัน แต่เรากังวลว่าจีนอาจกำลังกักตุนอาหารในประเทศ และใช้วิธีเดินหน้าซื้อธัญพืชในตลาดโลกในช่วงเวลาที่เราต้องการเห็นจีนยื่นมือเข้าช่วยประเทศที่กำลังเดือดร้อนมากกว่า"

 

อย่างไรก็ตาม บทความในสื่อของทางการจีนอย่างโกลบอล ไทมส์ (Global Times) ระบุสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อคิดเห็นของนายโอไบรอัน โดยโกลบอล ไทมส์ รายงานว่า "เวลานี้จีนผลิตธัญพืชป้อนความต้องการในประเทศมากกว่า 95% ซึ่งเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยที่จีนต้องกักตุนธัญพืชในตลาดโลก" พร้อมกันนี้ สื่อใหญ่ของจีนยังตอกกลับว่า สหรัฐต่างหากที่เป็น “ตัวการใหญ่” เบื้องหลังวิกฤติอาหารโลกในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากจีนที่พยายามช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

 

มาตการลงโทษรัสเซีย คือสาเหตุของวิกฤตอาหาร?

รายงานของธนาคารโลกชี้ว่า ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 60% และ 42% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับราคาในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว(2564)

รัสเซียและยูเครนล้วนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ความกังวลเรื่องวิกฤติอาหารโลกเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากรัสเซียบุกรุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยรัสเซียและยูเครนล้วนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก แต่ปริมาณการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันทานตะวัน ต่างลดลงมากหลังเกิดสงคราม

 

ทั้งนี้ ประเทศในแอฟริกาต้องพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียและยูเครนอย่างมากในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งผู้นำประเทศในแอฟริกาบางประเทศได้ตำหนิมาตรการลงโทษของชาติตะวันตกว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้น

นายโยเวรี มูเซเวนี ประธานาธิบดีประเทศยูกันดา กล่าวเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า สงครามในยูเครนและมาตรการลงโทษของชาติตะวันตก คือสาเหตุของปัญหาขาดแคลนข้าวสาลี ขณะที่นายซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ กล่าวว่า แม้แต่ประเทศที่อยู่วงนอกหรือไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้ (สงครามรัสเซีย-ยูเครน) ก็ยังต้องได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษที่ตะวันตกนำมาใช้กับรัสเซีย

 

ทางด้านนายแม็กกี ซอลล์ ประธานสหภาพแอฟริกา ผู้ซึ่งพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ผู้นำรัสเซียพร้อมและต้องการจะเปิดทางให้มีการขนส่งธัญพืชออกจากยูเครน แต่มาติดที่มาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก ซึ่งผู้นำแอฟริกาผู้นี้เรียกร้องให้ทุกฝ่าย "ยกเลิก”มาตรการลงโทษในส่วนของข้าวสาลีและปุ๋ยต่าง ๆ

ผู้นำชาติแอฟริกาเรียกร้องให้ทุกฝ่าย "ยกเลิก” มาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวกับข้าวสาลีและปุ๋ยต่าง ๆ

กระนั้นก็ตาม นายโอไบรอัน ซึ่งนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “การพูดถึงมาตรการลงโทษต่อรัสเซียว่าส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารโลกนั้นยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก เพราะในความเป็นจริง สหรัฐมิได้ลงโทษการผลิตและส่งออกอาหารและปุ๋ยของรัสเซีย แต่รัสเซียเองที่ขัดขวางเส้นทางการขนส่งอาหารจากยูเครนและรัสเซียลงไปประเทศทางใต้ของแผนที่โลก”

 

เจ้าหน้าที่สหรัฐผู้นี้กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) พยายามที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งออกอาหารจากยูเครนให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ยูเครนส่งออกก่อนสงคราม แต่ปัญหาก็คือรัสเซียได้ยึดครอง หรือทำลายแหล่งผลิตธัญพืชของยูเครนไปแล้วราว 30% ซึ่งรวมถึงการโจมตีใส่โรงงานแปรรูปและโกดังเก็บธัญพืชขนาดใหญ่หลายแห่งในยูเครนด้วย

 

ทางด้านนางคารี ฟาวเลอร์ ผู้แทนพิเศษสหรัฐว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารโลก กล่าวว่า "สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนกำลังผลักดันให้ประชากรโลกราว 40 ล้านคนต้องเข้าสู่กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร" และว่า ที่ผ่านมายูเครนผลิตอาหารป้อนประชากรโลกราว 400 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีธัญพืชปริมาณมากที่ยังคงค้างอยู่ตามโกดังต่าง ๆ ในยูเครนเพราะไม่สามารถออกจากท่าเรือที่ถูกกองทัพรัสเซียปิดทางหรือขัดขวางอยู่ได้

 

ช่วงชิงบทบาท "ผู้บริจาค" 

เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ประกาศเพิ่มเงินช่วยเหลือด้านอาหารให้แก่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในแอฟริกา รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดในโลก

 

แต่ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ไม่น้อยหน้า เปิดเผยว่า ได้ให้เงินบริจาค 130 ล้านดอลลาร์แก่องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ตามรายงานของโกลบอล ไทมส์) ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเกษตรของจีน ยืนยันว่า จีนคือ “ผู้บริจาครายใหญ่” ให้แก่กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาทางการเกษตร หรือ IFAD ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการด้านการเกษตรในแอฟริกาหลายโครงการ