ฝ่าวิกฤตอาหารโลก รักษาสมดุล “ผู้ผลิต-ผู้บริโภค”

27 พ.ค. 2565 | 23:30 น.

บทบรรณาธิการ

ผ่าน 3 เดือนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ให้คำตอบชัดเจนว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ ที่เขย่าโลกให้จับกลุ่มแบ่งขั้วยิ่งขึ้น ไม่จบในเร็ววัน เหมือนที่เคยหวังเมื่อแรกรบ และทำให้วิกฤตเศรษฐกิจการค้าของโลกจากพิษสงคราม น่าจะลากยาวข้ามปีแน่
 

นางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ออกโรงเตือนว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง เป็นผลพวงจากทั้งการระบาดเชื้อโควิด-19 และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ตลาดการเงินโลกเปราะบางอย่างยิ่ง ห่วงโซ่การผลิตโลกสะดุด  “ถือเป็นบททดสอบใหญ่ของโลกนับแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2”

เนื่องจากเวลานี้มีถึง 30 ประเทศทั่วโลก งัดมาตรการระงับการส่งออกอาหาร พลังงาน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ นับแต่เกิดการสู้รบ ถือเป็นปรากฏการณ์การกักตุนสินค้าเกษตรครั้งใหญ่สุดในรอบ 15 ปี นับแต่วิกฤตการณ์อาหารโลกเมื่อปี 2550-2551 ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยิ่งเลวร้าย และเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะยุ่งเหยิงอย่างที่สุด อาทิ อาร์เจนตินา ระงับส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองและอาหารที่มีส่วนประกอบถั่วเหลือง อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี ในภูมิภาคอาเซียน มาเลเซียงดส่งออกไก่ หรือ อินโดนีเซียงดส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่ยกเลิกคำสั่งไปเมื่อ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา 
 

เมื่อสงครามส่อลากยาว ความไม่แน่นอนยังยืดเยื้อ วิกฤตอาหารโลกจากภาวะตื่นสงคราม อาจซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ คลื่นความร้อนในภูมิภาคเอเซียใต้ หรือพื้นที่อื่นใดของโลก คุกคามพืชผลทางการเกษตร หากรุนแรง หรือกระทั่งการขาดแคลนปุ๋ย จากเหตุประเทศผู้ผลิตห้ามส่งออก จนส่งผลกระทบต่อการผลผลิตธัญพืช วิกฤตอาหารอาจยื้อต่อจากภาวะผลผลิตขาดแคลนในระยะต่อไป 

ความปั่นป่วนของตลาดอาหารโลกด้านหนึ่งกระทบผู้นำเข้าไทย ที่ผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งสำเร็จรูป วัตถุดิบ หรือสินค้าขั้นกลาง ขาดแคลน หรือต้องวิ่งหาซื้อจากตลาดในราคาที่สูงขึ้น ต้องหาสินค้าทดแทน  หรือต้องปรับสูตร กระทบการทำตลาดหรือสายพานการผลิต กดดันให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น หรือเกษตรกรไทย ต้องแบกต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมัน ปุ๋ย เคมีภัณฑ์การเกษตร ที่มีราคาสูงขึ้น 
 

ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญ เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก แม้ในช่วงโควิด ปี 2563-2564 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ มูลค่าสูงถึง 2.1 แสนล้านบาท และอาหารทะเลแช่แข็ง 2.78 แสนล้านบาท ตามลำดับ  ไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่า 3.82 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการยังคงมั่นใจว่า การส่งออกอาหารไทยปี 2565  สามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
 

ทั้งนี้ ภายใต้ฉากทัศน์ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นของสถานการณ์อาหารโลก รัฐบาลอย่ามัวแต่ห่วงเสถียรภาพตนเอง แต่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการอย่างสมดุล ให้ระบบขับเคลื่อนไปได้ โดยตลาดส่งออกในภาวะที่โลกมีความต้องการอาหารเพิ่ม ดูแลลดภาระผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตให้มีน้อยที่สุด ช่วยหาแหล่งปัจจัยการผลิต ขณะเดียวกันเป็นโอกาสผู้ส่งออกไทย ขายสินค้าได้ราคาที่ดีขึ้น  ต้องดูแลให้การจัดสรรผลตอบแทน ย้อนกลับถึงผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน จนถึงเกษตรกรอย่างเป็นธรรม
 

ขณะที่ตลาดในประเทศก็ต้องดูแลอย่าให้ขาดแคลน หรือราคาสินค้าหรือวัตถุดิบอาหารและการผลิตอาหารที่สูงขึ้น ลดภาระแก่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ให้สายพานการผลิตเดินหน้าไปได้ มีสินค้าป้อนความต้องการตลาดโดยไม่สะดุด ควบคู่กับดูแลผู้บริโภค ไม่ให้แบกภาระราคาสินค้าสูงเกินจำเป็น ดูแลหาทางเพิ่มรายได้ผู้บริโภค ประคองทุกฝ่ายให้ผ่านวิกฤตอาหารโลกครั้งนี้ไปได้ด้วยดี