กระทรวงกลาโหมไต้หวัน เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (21 มิ.ย.) ว่า จีน ได้ส่ง เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้ามาเหนือเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน ทำให้ ไต้หวัน ต้องส่งเครื่องบินรบเข้าสกัดและส่งสัญญาณเตือนเครื่องบินของจีนที่รุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันในครั้งนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นการล่วงล้ำน่านฟ้าของไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่ 30 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา โดยครั้งนั้นจีนเพิ่งส่งเครื่องบินรบ 30 ลำเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศไต้หวัน แต่ฝั่งทางการจีนยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผิดไปจากปกติที่จีนมักจะมีการเคลื่อนไหวโดยอ้างเหตุผลว่า เป็นเพียงการซ้อมลาดตระเวนของกองทัพจีนเท่านั้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมาไต้หวันได้ร้องเรียนถึงข้ออ้างการปฏิบัติภารกิจทางอากาศของกองทัพจีนเหนือเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศของไต้หวัน (ADIZ) ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา และไต้หวันออกมาวิจารณ์การเคลื่อนไหวทางการทหารของจีนว่าเป็นการทำศึกสงคราม “แดนสีเทา” ด้วยการข่มขู่และกดดัน เพื่อมุ่งหวังทำให้กองกำลังไต้หวันอ่อนล้าพร้อม ๆ กับการทดสอบความสามารถในการโต้ตอบของไต้หวันไปด้วยในตัว
ทางด้านสหรัฐอเมริกาที่มักแสดงบทบาทเหมือนเป็นพี่ใหญ่คอยปกป้องไต้หวันจากการคุกคามของจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ล่าสุดมีการทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอเมริกัน ซึ่งผลบ่งชี้ว่า หากไต้หวันถูกโจมตีโดยจีน คนในสหรัฐเกินกึ่งหนึ่งเล็กน้อย หรือ 53% ต้องการให้รัฐบาลสหรัฐออกโรงช่วยปกป้องไต้หวัน
ฮัล แบรนด์ส นักวิเคราะห์จาก สถาบัน American Enterprise Institute หรือ AEI ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยนโยบายที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ตัวเลข 53% อาจดูไม่มาก แต่ถือว่ามากกว่าสถิติเท่าที่เคยเห็นมา รวมทั้งในช่วงสงครามเย็นเมื่อชาวอเมริกันถูกถามว่า จะปกป้องเยอรมนีจากการถูกสหภาพโซเวียตโจมตีหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้กล่าวว่า อย่างน้อยสหรัฐก็มีพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ดังจะเห็นได้ว่า ทั้งออสเตรเลียและญี่ปุ่น ต่างก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองประเทศจะไม่อยู่เฉย ๆ หากเกิดการเผชิญหน้าระหว่างอเมริกาและจีนขึ้นมาจริง ๆ จากกรณีความขัดแย้งเรื่องไต้หวัน
หนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า Defending Taiwan ที่ตีพิมพ์โดยสถาบัน AEI ระบุว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐควรวางแผนภายใต้สมมติฐานที่ว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ (เกี่ยวกับกรณีไต้หวัน) จะกินเวลายาวนาน
“ในความเป็นไปได้ที่น่ากังวลที่สุด ก็คือปักกิ่งจะโจมตี (ไต้หวัน) ด้วยขีปนาวุธแบบที่คาดไม่ถึง และอาจสร้างความเสียหายต่อไต้หวันรวมถึงต่อกองทัพอากาศและกองทัพเรืออเมริกันที่กระจุกตัวอยู่ที่ฐานทัพบางแห่งทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก” นักวิเคราะห์ของสถาบัน AEI กล่าว
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้สหรัฐจะสามารถดำเนินนโยบายป้องปรามไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการทหารบริเวณช่องแคบไต้หวัน และมีการเตรียมพร้อมมาตรการฉุกเฉินหากว่าเกิดการโจมตีจากฝ่ายจีน แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการยกระดับทั้งทางโวหารและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายจีนที่เพิ่มความตึงเครียดในประเด็นไต้หวัน