ปูตินร่วมซัมมิตกลุ่ม BRICS หาแนวร่วมเลี่ยงใช้เงินดอลล์-ลดอิทธิพลตะวันตก

23 มิ.ย. 2565 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2565 | 13:07 น.

ปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรียมใช้เวทีการประชุมผู้นำชาติ BRICS ซึ่งเป็นการประชุมออนไลน์ที่มีจีนเป็นเจ้าภาพในสัปดาห์นี้ หาแนวร่วมต้านอิทธิพลชาติตะวันตก หวังตั้งโรงกลั่นน้ำมันร่วมกัน-เลี่ยงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรียมเข้าร่วม การประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS ใน การประชุมสุดยอดประจำปีครั้งที่ 14 ของ BRICS ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์โดยประเทศ จีน เป็นเจ้าภาพในปีนี้ โดย นับเป็นครั้งแรกที่ปธน.ปูตินจะเข้าร่วมประชุมแบบพหุภาคีระดับใหญ่นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา

 

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2549 และจัดประชุมสุดยอดขึ้นครั้งแรกในรัสเซียเมื่อปี 2552 โดยเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 

 

5 ชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็น 1 ใน 4 ของโลก และมีมูลค่าการค้า คิดเป็นสัดส่วน 16% มูลค่าของการค้าโลก

 

เมื่อพูดถึงประเทศทั้ง 5 ของกลุ่ม BRICS แล้ว นอกจากจะไม่มีชาติสมาชิกใดในกลุ่มที่กล่าวประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียแล้ว จีนกับอินเดียยังค้าขายกับรัสเซียมากยิ่งขึ้นด้วย แม้ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา จะแห่คว่ำบาตรรัสเซียก็ตาม

 

ในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะเรียกร้องให้ชาติสมาชิก จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซร่วมกับรัสเซีย โดยเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวทาสส์ (Tass) สื่อทางการของรัสเซีย รายงานคำพูดของนายเดนิส แมนทูรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของรัสเซียว่า โรงกลั่นที่เกิดจากการลงทุนร่วมดังกล่าวจะช่วยให้ BRICS ลดการพึ่งพาพลังงานจาก "คู่ค้าที่ไว้ใจไม่ได้"

การประชุมผู้นำ BRICS ปีนี้ จีนเป็นเจ้าภาพและจะเป็นการประชุมทางออนไลน์

ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก รัสเซียถูกตัดออกจากเครือข่ายระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก (SWIFT) จึงต้องมองหาวิธีลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจเหนือชาติอื่น เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว กลุ่มประเทศ BRICS ได้เคยหารือกันถึงแผนการนี้มาแล้วในการประชุมครั้งก่อน ๆ

 

นายแอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังรัสเซียกล่าวเตือนเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า ชุดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก อาจจะทำให้เกิดวิกฤตอาหารและเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อพุ่ง (Stagflation) ไปทั่วโลก นายซิลูอานอฟจึงเรียกร้องให้ชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพิงอิทธิพลจากชาติตะวันตก

 

นอกจากนี้ นิตยสารข่าวรัสเซีย บรีฟฟิง (Russia Briefing) สื่อของรัสเซียยังระบุว่า ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นายซิลูอานอฟยังได้เรียกร้องให้กลุ่ม BRICS จัดทำข้อตกลงทางการค้าด้วยสกุลเงินของแต่ละฝ่าย โดยหลีกเลี่ยงการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย

จีนเข้าข้างรัสเซีย ย้ำมาตรการคว่ำบาตรเป็น “ดาบสองคม"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ในฐานะเจ้าภาพ ได้กล่าวเมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) ขณะเปิดการประชุมของภาคธุรกิจกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการประชุมของภาคเอกชน ก่อนเริ่มต้นการหารือระดับผู้นำในวันพฤหัสฯ (23 มิ.ย.) ใจความส่วนหนึ่งระบุว่า เขาขอใช้โอกาสนี้แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ในยูเครน และตำหนิมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ

ปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ยืนหยัดเคียงข้างรัสเซีย

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของทางการจีน รายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในการเปิดประชุมงาน BRICS Business Forum ของภาคธุรกิจว่า วิกฤตยูเครนส่งสียงเตือนอีกครั้งต่อมวลมนุษยชาติ ว่า ประเทศต่างๆจะต้องเผชิญกับความยากลำบากด้านความมั่นคงอย่างแน่นอน ถ้ายังหลับหูหลับตาเชื่อในท่าทีของตนเรื่องความแข็งแกร่ง และมุ่งขยายพันธมิตรทางทหาร รวมถึงแสวงหาความปลอดภัยให้กับตนเอง โดยสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น

 

นอกจากนี้ เขากล่าวว่า การใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นๆอาจกลายเป็น “บูมเมอแรง” ที่ตีกลับ และเป็น “ดาบสองคมได้” ปธน.สี เสริมว่าประชาคมโลกจะเดือดร้อนจากกระแสเศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นการเมืองและใช้เป็นอาวุธทำร้ายกัน

 

ในโอกาสเดียวกันนี้ ปธน.ปูติน กล่าวผ่านระบบวิดีโอคอลล์สู่การประชุมภาคธุรกิจกลุ่ม BRICS เมื่อวันพุธว่า กำลังเจรจาให้มีการนำเข้ารถจากประเทศจีน เพื่อให้มีรถผลิตในจีนจำนวนมากขึ้นที่ใช้ในรัสเซีย และอาจมีการเปิดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตของอินเดียเริ่มธุรกิจในรัสเซียได้

 

“ถึงเวลาที่รัสเซียจะขยายบทบาทในกลุ่ม BRICS แล้ว และการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียไปยังจีนและอินเดีย ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ผู้นำรัสเซียกล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของหน่วยงานของศุลกากรจีนระบุว่า จีนเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย 55% ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรัสเซียกลายเป็นผู้ขายน้ำมันให้จีนเป็นอันดับหนึ่งแทนซาอุดิอาระเบียในเดือนดังกล่าว ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะโรงกลั่นในจีนสนใจน้ำมันราคาที่ถูกขายโดยมีส่วนลดจากผู้ผลิตรัสเซีย

 

ในส่วนของการลดการพึ่งพาตะวันตกเรื่องระบบการเงิน ปธน.ปูตินกล่าวว่า ระบบธุรกรรมการเงินข้ามประเทศของรัสเซียเปิดการเชื่อมต่อกับประเทศกลุ่ม BRICS นอกจากนี้ ยังมีการชำระเงินผ่านระบบ MIR ของรัสเซียเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญคือ “เรากำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะสร้างเงินสำรองระหว่างประเทศที่อ้างอิงตะกร้าของเงินสกุลในประเทศกลุ่ม BRICS” ประธานาธิบดีปูตินกล่าวในที่สุด