สหรัฐนั่งไม่ติด! หลังพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทะลุ 300 รายใน 28 รัฐ

30 มิ.ย. 2565 | 00:42 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2565 | 08:00 น.

สหรัฐเพิ่มความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง (Monkeypox) เตรียมกระจายวัคซีนกว่า 3 แสนโดสไปในหลายรัฐความเสี่ยงสูง เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด เน้นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุดและชุมชนที่มียอดผู้ป่วยมากที่สุด หลังพบผู้ติดเชื้อแล้ว 306 รายใน 28 รัฐ

หน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐ ยืนยันตรวจพบ ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 306 รายใน 28 รัฐ ( ข้อมูล ณ 28 มิ.ย.) หลังยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทำเนียบขาวประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ จะเริ่มแจกจ่าย วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ไปทั่วประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด โดยมุ่งเน้นไปยังรัฐที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงที่สุด และชุมชนที่มียอดผู้ป่วยมากที่สุด

 

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา (HHS) จะดำเนินการส่งมอบ วัคซีน “จินนิออส” (Jynneos) จำนวน 56,000 โดสไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงในทันที จากนั้นจะมีการแจกจ่ายวัคซีนเพิ่มเติมอีก 240,000 โดสในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และจะแจกจ่ายมากขึ้นอีกในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง

 

ทำเนียบขาวระบุด้วยว่า จะมีวัคซีนพร้อมใช้งานเพิ่มอีก 1.6 ล้านโดสในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

ข้อมูลล่าสุดของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) เปิดเผยว่า รัฐที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสูงสุดในขณะนี้ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก อิลลินอยส์ ฟลอริดา และกรุงวอชิงตัน ดีซี

 

สำหรับผู้ที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น คือผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงโดยตรง รวมทั้งผู้ที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะได้รับเชื้อ ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ชายที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกันและคู่รักของพวกเขา

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า จัดบริการตรวจหาเชื้อไม่มากพอ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงอาจไม่สะท้อนสถานการณ์จริง

ความเคลื่อนไหวในการเร่งกระจายวัคซีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากหลายรัฐที่ประสบการแพร่ระบาดได้ออกมาเรียกร้องกดดันให้หน่วยงานภาครัฐเร่งกระจายวัคซีนให้ไวขึ้นและมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลจัดบริการตรวจหาเชื้อไม่มากพอสำหรับการติดตามผลการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดทำให้เชื่อว่าสถานการณ์การติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะมากกว่าตัวเลขที่ทางการรายงาน

ดังนั้น มาตรการล่าสุดของสหรัฐจึงมุ่งจัดการทั้งสองปัญหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ นั่นคือเร่งกระจายวัคซีนให้มากขึ้นและไวขึ้น เน้นพื้นที่ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด นอกจากนี้ ก็จะเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้ห้องทดลองของเอกชน 5 แห่งเข้าร่วมในโครงการเพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้เพียงเครือข่ายห้องทดลองของสาธารณสุข ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operations Center) ของ CDC ยังได้รับมอบหมายให้รับมือกับสถานการณ์อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรมากขึ้น

 

นางโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC แนะนำว่า ผู้ที่คิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นมีประวัติการสัมผัสโดยตรงหรือใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษลิง หรืออยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งรวมถึงกลุ่มชายรักชาย ในช่วงระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาควรได้รับวัคซีน  ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนหลังการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยนั้น สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อฝีดาษลิงและการมีอาการป่วย แต่ทั้งนี้ ควรได้รับวัคซีนภายในสองสัปดาห์หรือเร็วกว่านั้น เพราะยิ่งได้รับวัคซีนเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

  ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของ CDC ได้รับมอบหมายให้รับมือกับสถานการณ์อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น

สำนักข่าว CNN รายงานว่า จนถึงวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงยืนยันแล้ว 306 รายใน 28 รัฐ หลังมีการตรวจพบรายแรกเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 4,700 ราย ใน 49 ประเทศ

 

อ่านเพิ่มเติม : 'อังกฤษ' แชมป์ฝีดาษลิงนอกแอฟริกา ยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1,000 รายแล้ว

 

ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นมีรัฐที่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง หรือพื้นที่อันดับหนึ่งที่ควรได้รับการกระจายวัคซีน 10 รัฐ