ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดย สำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐ และได้รับการวิเคราะห์โดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ หรือ CDC พบว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 1 ใน 5 คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แม้ภายหลังจากไม่มีเชื้อแล้ว แต่ก็ยังคงมีอาการเรื้อรังที่เรียกว่า โควิดระยะยาว หรือ ลองโควิด (Long Covid)
ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจที่รวบรวมในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน (1-13 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า มากกว่า 40% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ที่ตอบคำถามการสำรวจ เคยมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และ 19% ตอบว่าพวกเขายังคงมีอาการลองโควิด
โดยภาพรวมแล้ว ผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 13 คนในสหรัฐ หรือราว 7.5% มี อาการโควิดระยะยาว หรือ Long Covid ซึ่งกินเวลานานถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้นหลังจากที่ติดเชื้อในครั้งแรก และอาการ “ลองโควิด” ที่พวกเขาต้องพบเจอนั้น ก็เป็นอาการที่พวกเขาไม่เคยมีมาก่อนหน้าที่จะมีการติดเชื้อ
อาการของโควิดระยะยาวนั้นมีมากมายเช่น อาการเหนื่อยล้า หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก มีปัญหาในการรับรู้ ภาวะเจ็บปวดเรื้อรัง ประสาทสัมผัสผิดปกติ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอและคงอยู่เป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากที่ฟื้นตัวจากการติดเชื้อ
การวิเคราะห์ของ CDC พบว่าผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อยมีแนวโน้มที่จะมีอาการโควิดระยะยาวมากกว่าผู้ใหญ่ที่อายุมากแล้ว นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะมีภาวะดังกล่าวนี้มากกว่าผู้ชาย โดยการศึกษาพบว่า 9.4% ของผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐมีอาการของโควิดระยะยาว ในขณะที่ผู้ชายมีอัตรานี้ 5.5%
การสำรวจระบุด้วยว่าผู้ใหญ่ชาวฮิสแปนิกมีอัตราการมีภาวะโควิดระยะยาวเกือบ 9% ซึ่งสูงกว่าผู้ใหญ่ผิวขาวและผิวดำที่ไม่ใช่ชาวฮิสแปนิก และสูงกว่าผู้ใหญ่ชาวเอเชียที่ไม่ใช่ฮิสแปนิกมากกว่าสองเท่าตัว
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มไบเซ็กชวลและผู้ที่แปลงเพศยังมีแนวโน้มที่จะมีอาการโควิดระยะยาวมากกว่าผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศสรีระ (Cisgender)
นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างตามรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐโดยที่รัฐเคนตักกี้และแอละบามา มีผู้ใหญ่ที่มีอาการโควิดระยะยาวในอัตราที่สูง ในขณะที่ฮาวาย แมรี่แลนด์ และเวอร์จิเนียมีอัตรานี้ต่ำที่สุด
ที่มา