รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
Long COVID (ลองโควิด) ในเด็ก
ล่าสุดมีงานวิจัยเกี่ยวกับ Long COVID ในเด็ก โดยเป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาจนถึงปัจจุบันจากประเทศเดนมาร์ก
เผยแพร่ใน The Lancet Child&Adolescent Health เมื่อวานนี้ 22 มิถุนายน 2565
ทำการสำรวจทั่วประเทศเดนมาร์ก ครอบคลุมประชากรเด็กอายุ 0-14 ปี ที่เคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จำนวน 10,997 คน
เปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน จำนวน 33,016 คน ทั้งนี้ได้ทำการประเมินคุณภาพชีวิต
และอาการผิดปกติต่างๆ ของ Long COVID โดยสอบถามผ่านแม่ของเด็กแต่ละคน
สาระสำคัญที่พบคือ
กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะพบว่ามีปัญหาอาการผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกาย
หรือ Long COVID อย่างน้อย 1 อาการ นานกว่า 2 เดือน มากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ
โดยในช่วงอายุ 0-3 ปี ติดเชื้อจะพบปัญหามากกว่าไม่ติดเชื้อถึง 1.78 เท่า
ช่วงอายุ 4-11 ปี 1.23 เท่า และช่วงอายุ 12-14 ปี 1.21 เท่า
ผลจากการศึกษานี้ ตอกย้ำให้เราเห็นว่า แม้จะเป็นเด็ก ก็ประสบปัญหา Long COVID มีอาการผิดปกติต่อเนื่องหลังจากการติดเชื้อได้
และจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากคุณพ่อคุณแม่ คอยสังเกตอาการต่างๆ หลังจากรักษาตัวหายจากการติดเชื้อในช่วงแรกไปแล้ว
โดยมีได้หลากหลายอาการ เช่น ไอ ใจสั่น หายใจลำบาก เหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในลักษณะต่างๆ
นอกจากนี้ยังเคยมีการวิจัยก่อนหน้านี้ จนเป็นที่มาของคำเตือนจาก US CDC ว่า
การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีได้อีกด้วย
ดังนั้น หากสังเกตพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรนำเด็กๆ ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้ตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที
เน้นย้ำให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเอง และครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ