วันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็น วันชาติสหรัฐอเมริกา หรือเรียกว่า วันประกาศอิสรภาพ (Independence Day) ประวัติความเป็นมาย้อนไปเมื่อ 247 ปีที่แล้ว เมื่อค.ศ. 1776 เป็นวันที่ผู้แทนจากรัฐอาณานิคมของอังกฤษ 13 รัฐในอเมริกา (ซึ่งในยุคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม "บริติชอเมริกา" หรือดินแดนในอาณัติของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ) ได้เข้าร่วมลงนามการประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการจากจักรวรรดิอังกฤษ
ทั้งนี้ การฉลองวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐ เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่ 18 โดยในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 สภาแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) หรือ สภาฟิลาเดลเฟีย ลงมติเห็นชอบให้ประกาศอิสรภาพของประเทศ และ 2 วันต่อมา (4 ก.ค.) ผู้แทนจากรัฐอาณานิคมของอังกฤษ 13 รัฐก็เข้าร่วมลงนามการประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษอย่างเป็นทางการ โดยเอกสารสำคัญในการนี้ที่เรียกว่า "คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา" ถูกร่างขึ้นโดยนาย โธมัส เจฟเฟอร์สัน (ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ในปี 1801)
ย้อนประวัติของวันประกาศอิสรภาพ
ช่วงเริ่มต้นของ สงครามปฏิวัติอเมริกัน (Revolutionary War) เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1775 รัฐอาณานิคมหลายแห่งไม่ได้มีความต้องการจะได้อิสรภาพอย่างเต็มตัวจากอังกฤษ กระทั่งเวลาล่วงเลยมาอีกกว่าปี หลายฝ่ายเริ่มต้องการแยกตัวเต็มที่ เนื่องจากความไม่พอใจต่ออังกฤษที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1776 ได้มีการประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีปซึ่งเป็นสภาการปกครองของสหรัฐในขณะนั้น ที่อาคารที่ทำการรัฐเพนซิลเวเนีย (ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น หออิสรภาพ หรือ Independence Hall) ในเมืองฟิลาเดลเฟีย และนายริชาร์ด เฮนรี่ ลี ผู้แทนจากเวอร์จิเนีย เสนอญัตติให้รัฐอาณานิคมประกาศตัวเป็นอิสระ
ในครั้งนั้นมีการอภิปรายอย่างดุเดือดจนต้องเลื่อนการลงมติออกไป มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่มีสมาชิก 5 คน รับหน้าที่ร่างแถลงการณ์แสดงเหตุผลของการแยกตัวออกจากอังกฤษ
กระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคม 1776 สภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบการแยกตัวออกจากอังกฤษนี้ และนายริชาร์ด เฮนรี่ ลี ผู้เสนอญัตติ ได้เขียนจดหมายถึงภรรยาของเขา ใจความส่วนหนึ่งซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ระบุว่า “วันที่ 2 กรกฎาคมจะเป็นวันที่มีการฉลองใหญ่ซึ่งจะสืบเนื่องต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น” ก่อนที่สภาแห่งภาคพื้นทวีปจะประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งกลายมาเป็นวันชาติอย่างเป็นทางการสืบมา
อิสรภาพที่ต้องเฉลิมฉลอง!
ในยุคก่อนที่จะเกิดสงครามปฏิวัติอเมริกัน ประชาชนในรัฐอาณานิคมทั้งหลายฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาขององค์กษัตริย์แห่งอังกฤษ ด้วยการสั่นระฆัง ร่วมงานชุมนุมรอบกองไฟ และร่วมหรือชมขบวนแห่ เป็นต้น
แต่เมื่อถึงปีที่อเมริกาได้รับอิสรภาพ (กลางปี 1776) งานรื่นเริงเฉลิมฉลองการเริ่มต้นของอิสรภาพกลายมาเป็นการจำลองงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าจอร์จที่ 3 (แห่งอังกฤษ) ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของงานรื่นเริงอื่น ๆ ในปีต่อ ๆ มา ซึ่งรวมถึงการจุดพลุ การเดินขบวนพาเหรด และจัดการแสดงดนตรี ไปจนถึงการร่วมวงรับประทานอาหาร โดยเฉพาะบาร์บีคิว ภายในครอบครัว
งานแสดงดอกไม้ไฟและประเพณีการจุดพลุ 4 ก.ค.
ประเพณีการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเพื่อฉลองวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกานั้น เริ่มต้นครั้งแรกที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1777 โดยเป็นการยิงปืนใหญ่ 13 ครั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐอาณานิคมทั้ง 13 รัฐ ก่อนที่จะกลายมาเป็นการจุดดอกไมไฟขึ้นฟ้าในเวลาต่อมา
4 กรกฎาคม วันหยุดแห่งชาติ
ประเพณีการฉลองความรักชาติของชาวอเมริกันเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางหลังสงคราม ค.ศ. 1812 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐ เผชิญหน้ากับอังกฤษอยู่ แต่การประกาศให้วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันหยุดแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 โดยสภาคองเกรส
กล่าวกันว่า แม้ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ความสำคัญของวันหยุดต่างๆ ในแง่มุมทางการเมืองจะค่อยๆ ลดลง แต่วันประกาศอิสรภาพ 4 กรกฎาคม ก็ยังคงเป็นวันสำคัญของประเทศและเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติอย่างไม่เสื่อมคลาย
และเนื่องจากวันชาติ หรือวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐ ตรงกับช่วงกลางฤดูร้อน วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี จึงกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางกิจกรรมสันทนาการในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา โดยสมาชิกในครอบครัวชาวอเมริกัน จะถือโอกาสนี้กลับมาใช้เวลาร่วมกัน ด้วยการชมการแสดงดอกไม้ไฟและรับประทานบาร์บีคิวนอกบ้านด้วยกัน โดยมีสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การประดับธงชาติอเมริกัน และการบรรเลง เพลง The Star-Spangled Banner ซึ่งเป็นเพลงชาติประกอบบรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจ
ที่มา วีโอเอ / วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี