นายบอริส จอห์นสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (พรรคคอนเซอร์เวทีฟ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของอังกฤษเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังถูกสมาชิกพรรคกดดันอย่างหนักให้ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการทยอยลาออกของรัฐมนตรี ส.ส. และคณะทำงานของเขาอีกหลายสิบตำแหน่ง ซึ่งรวมทั้งการลาออกของนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายริชี ซูแนค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม นายบอริสยังคงจะเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อไปจนว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ในเดือน ต.ค.นี้
สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานว่า ก่อนการลาออกของนายบอริส จอห์นสัน เมื่อวันพฤหัสฯ (7 ก.ค.) นั้น ได้เกิดปรากฏการณ์ที่กลายเป็นสถิติใหม่ในแวดวงการเมืองของอังกฤษ นั่นคือ บรรดารัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในรัฐบาลมากกว่า 40 ราย ได้พากันยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่พุธที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์ “การยื่นหนังสือลาออกจำนวนมากที่สุด” ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
ข่าวระบุว่า แม้ในช่วงเวลาค่ำแล้วของวันดังกล่าว ก็ยังมีการยื่นหนังสือลาออก เช่น นายไซมอน ฮาร์ท มุขมนตรีของเวลส์ ยื่นหนังสือลาออกในเวลา 23.00 น. หลังจากนั้น ลากยาวมาจนถึงช่วงเช้าวันวันที่ 7 ก.ค. (ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ) ยังมีสมาชิกรัฐบาลอังกฤษทยอยลาออกอีกแตะ 50 คน ก่อนที่นายบอริส จอห์นสัน จะประกาศลาออกในที่สุด
ย้อนช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง และการไขก๊อกของบรรดารัฐมนตรี
นายแบรนดอน ลูอิส รัฐมนตรีกิจการไอร์แลนด์เหนือ เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันพฤหัสฯ (7 ก.ค.) ก่อนรัฐมนตรีอื่น ๆ อีก 7 คน จะทยอยยื่นหนังสือลาออกตามมา ซึ่งรวมทั้งนางพริที พาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรานต์ แชปป์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนที่ภักดีต่อนายบอริส จอห์นสัน มาโดยตลอด ยังออกมาเรียกร้องให้นายจอห์นสันลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
ในจดหมายลาออกของนายแบรนดอน ลูอิส เขาระบุถึงจุดแตกหักที่ยากจะประสานให้เหมือนเดิม เนื้อหาช่วงหนึ่งระบุว่า "ผมเลือกที่จะเชื่อใจคุณและคนรอบตัวของคุณในช่วงที่ผ่านมา ผมปกป้องรัฐบาลนี้ทั้งต่อหน้าสาธารณชนและในพื้นที่ส่วนตัว ทว่าตอนนี้ เราผ่านจุดที่จะย้อนกลับไปได้อีกแล้ว"
ขณะที่ นายไซมอน ฮาร์ท มุขมนตรีของเวลส์ หนึ่งในผู้ที่ร่วมยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 6 ก.ค. กล่าวว่า บรรดาเพื่อนร่วมงานของนายจอห์นสัน พยายามทำอย่างถึงที่สุดแล้วเพื่อช่วยเขารักษา “รัฐนาวา” ลำนี้เอาไว้ แต่สุดท้าย “มันเป็นเรื่องเศร้าที่ผมรู้สึกว่า เราได้ผ่านช่วงที่จะต้องรักษามันไว้ได้แล้ว"
ด้านนายริชี ซูแนค รัฐมนตรีคลังอังกฤษที่ไขก๊อกไปแล้วเช่นกัน ระบุในใบลาออกว่า แนวคิดพื้นฐานเรื่องนโยบายเศรษฐกิจระหว่างเขากับนายจอห์นสันเริ่มแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ ใบลาออกของนายซาจิด จาวิด ที่บัดนี้กลายเป็นอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ระบุว่า มีอุปสรรคหลายเรื่องที่กระทบต่อการทำงานทางการเมืองของเขา
ทั้งคู่เป็นรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญที่ยื่นลาออก 2 วันก่อนที่นายบอริส จอห์นสัน จะตัดสินใจลาออก
พลาดแล้ว พลาดอีก สร้างเรื่องฉาวซ้ำซาก
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้จัดการประชุมเพื่อลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” นายบอริส จอห์นสัน ในฐานะหัวหน้าพรรค ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนและสมาชิกรัฐสภาต่อการที่รัฐบาลอังกฤษจัดงานเลี้ยงสังสรรค์หลายครั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่รัฐบาลเองได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ คุมเข้มการชุมนุม การรวมตัวทำกิจกรรมของประชาชน โดยอ้างเหตุผลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติครั้งนั้น โชคยังเข้าข้างนายจอห์นสัน เพราะปรากฏว่า ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ 211 คน ยังลงมติไว้วางใจเขา ขณะที่สมาชิก 148 คนลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” ข่าวระบุว่า หากนายจอห์นสันพ่ายแพ้ในการลงมติครั้งนั้น เขาจะต้องลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายจอห์นสันจะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครแข่งขันอีก เพราะเขาจะตกเป็นผู้นำที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
นอกจากเรื่องการจัดปาร์ตี้ในทำเนียบนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ และถูกตรวจสอบกระทั่งมีผลสอบออกมา ชี้ว่าเป็นตัวอย่างของ "ความล้มเหลวในการเป็นผู้นำ" ของนายบอริส จอห์นสัน แล้ว อีกประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกมากดดันและเรียกร้องให้เขาลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ คือการแต่งตั้งนายคริส พินเชอร์ ผู้ที่มีประวัติด่างพร้อย ให้มาดำรงตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาล ที่ต้องคอยดูแลเรื่องระเบียบวินัยของพรรค
ประวัติฉาวของนายพินเชอร์ คือ เขาถูกกล่าวหาว่าลวนลามชาย 2 คนที่คลับส่วนบุคคล แต่นายพินเชอร์ปฏิเสธข้อกล่าวหา ในเบื้องต้นเมื่อเรื่องนี้ปูดออกมา ทีมงานของนายจอห์นสันระบุว่า เขา(นายจอห์นสัน) ไม่ทราบประเด็นนี้มาก่อนขณะแต่งตั้งนายพินเชอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่จุดท้ายข้ออ้างดังกล่าวก็ถูกจับโป๊ะ เมื่อนายไซมอน แมคโดนัลด์ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในปี 2015-2020 ออกมาระบุว่า ทีมงานของนายจอห์นสันไม่ได้พูดความจริง เพราะตัวเขาเองได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายพินเชอร์ตั้งแต่เดือนก.ค. ปี 2019 ไม่นานหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งในกระทรวง และเขาขอยืนยันว่า นายจอห์นสันได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อร้องเรียนและผลการสอบสวนความผิด ซึ่งนายพินเชอร์ยังได้ออกมาขอโทษต่อการกระทำของตัวเองด้วย นั่นหมายความว่า นายจอห์นสันรับรู้เรื่องนี้มาตลอด
หลังจากที่นายแมคโดนัลด์ออกมาเปิดเผยดังกล่าว ทีมงานของนายจอห์นสันได้ออกมาแก้เกี้ยว โดยปรับเปลี่ยนคำชี้แจงอีกครั้ง อ้างว่านายกรัฐมนตรี (นายบอริส จอห์นสัน) “ลืมไป” ว่านายพินเชอร์เคยถูกร้องเรียนอย่างเป็นทางการ และนายจอห์นสันยังให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าว่า นายพินเชอร์ควรถูกไล่ออกหลังเหตุการณ์ในปี 2019
เมื่อถูกถามว่า การแต่งตั้งนายพินเชอร์ให้รับตำแหน่งในรัฐบาลถือเป็นความผิดพลาดหรือไม่ นายจอห์นสันตอบว่า เป็นความผิดพลาด และขอโทษสำหรับเรื่องดังกล่าว
คำอธิบายและจุดยืนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ของนายจอห์นสันทำให้คณะรัฐมนตรีไม่พอใจที่ถูกบังคับให้ต้องออกมารับหน้าแทนในเรื่องนี้ สุดท้ายนายคริส พินเชอร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาล เพื่อยุติเรื่องฉาวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขา
นับจากนี้ไป นายบอริส จอห์นสัน จะยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนถึงฤดูไม้ร่วง (เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน) ซึ่งน่าจะเป็นถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้พรรคอนุรักษ์นิยมของเขา ได้คัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะเดียวกัน พรรคอนุรักษ์นิยม จะเปิดแข่งขันให้มีการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ในฤดูร้อนนี้ (กรกฎาคมถึงสิงหาคม)
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายจอห์นสันยังมีความกังวลเกี่ยวกับเสียงสนับสนุนนับล้านที่เขาได้รับมาจากการเลือกตั้ง และตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ที่จะมาแทนตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา จะสามารถทำได้แบบเขาหรือไม่
ทั้งนี้ นายจอห์นสันสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการนำพรรคอนุรักษ์นิยม (หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ) ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน ธ.ค. 2019 โดยกวาดที่นั่งได้ 365 จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ที่นั่งเพิ่มจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 จำนวน 47 ที่นั่ง นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ประกาศเดินหน้าสานต่อการนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2020 ซึ่งเป็นไปตามการลงประชามติของชาวอังกฤษได้สำเร็จ