ศรีลังกาประกาศ ภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ วานนี้ (13 ก.ค.) เพื่อสกัดความร้อนแรงของมวลชนที่ชุมนุมประท้วงนานนับสัปดาห์ นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ได้ขอให้นายมหินธา ยาปา อะเบย์วาร์เดนา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทนเขา หลังจากที่ นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ หลบหนีออกนอกประเทศ เมื่อวันพุธ
แถลงการณ์จากฝ่ายสื่อของนายรานิล วิกรมสิงเห ระบุว่า เขาได้ขอให้ประธานสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ "ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน" และเป็นการเดินหน้าสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เขาหวังว่าจะเป็นทางออกเฉพาะหน้าสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมือง ที่กำลังเกิดขึ้นในศรีลังกาขณะนี้
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การที่นายวิกรมสิงเหเข้ามารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีเองก็ยังคงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วงด้วยเช่นกัน เพราะผู้ประท้วงก็เรียกร้องต้องการให้นายวิกรมสิงเหออกจากตำแหน่งไปด้วย โดยผู้ประท้วงส่วนหนึ่งได้บุกยึดสถานีกระจายเสียงแห่งชาติจนส่งผลให้ต้องระงับการออกอากาศวานนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจำนวนหลายพันคนบุกไปเผาสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อกดดันให้นายวิกรมสิงเหลาออก
ความรุนแรงของมวลชนเกิดขึ้นเมื่อมีรายงานข่าวว่า นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา พร้อมภรรยา ได้หลบหนีออกนอกประเทศในช่วงเช้าวานนี้ (13 ก.ค.) โดยใช้เครื่องบินทหาร และเขาได้เดินทางถึงประเทศมัลดีฟส์แล้ว โดยอาจเดินทางต่อไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นสิงคโปร์ การที่ปธน.ราชปักษะหลบหนีออกนอกประเทศครั้งนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครองของตระกูล “ราชปักษะ” ที่ครองอำนาจในศรีลังกามานานเกือบสองทศวรรษ
ก่อนหน้านี้ นายราชปักษะยืนยันว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่งเองในวันที่ 13 ก.ค. หลังจากที่ในช่วงสุดสัปดาห์ (9 ก.ค.) กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดีและยึดครองทำเนียบตั้งแต่นั้นมาจนกว่าเขาจะประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ มวลชนยังได้จุดไฟเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ด้วย เนื่องจากไม่พอใจต่อการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำถึงขีดสุด
จากเหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดของกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) หลังจากที่ปธน.ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศแทนที่จะประกาศลาออกอย่างเป็นทางการตามที่ได้สัญญาไว้ รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ครอบคลุมถึงการใช้มาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งรวมถึงกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เพื่อยับยั้งเหตุการณ์รุนแรง
นอกจากนี้ รัฐสภาศรีลังกาจะจัดการประชุมในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.นี้ เนื่องจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ว่างลง และจะมีการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 19 ก.ค. ส่วนการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ค. รวมทั้งจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใหม่ เป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง ขึ้นมาบริหารประเทศด้วย
ทั้งนี้ ความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคนไม่สามารถชำระเงินเพื่อการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ปุ๋ย ยารักษาโรค และเชื้อเพลิง เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง และต้องพิมพ์เงินรูปีเพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการ จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 54.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งทะยานขึ้นถึง 128% และค่าอาหารพุ่งขึ้น 80% อันเป็นผลจากการขาดแคลนพืชผลและน้ำมันดิบ
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในการจลาจลวานนี้ (13 ก.ค.) ผู้ประท้วงหลายร้อยคนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สำนักงานนายกฯ ในกรุงโคลัมโบ มีรายงานการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงที่พยายามบุกเข้าไปด้านในสำนักงานพร้อมตะโกนขับไล่นายกฯ วิกรมสิงเห ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่า เขาจะยังคง “ทำหน้าที่ต่อไป” จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่
"ผู้ประท้วงต้องการขัดขวางกระบวนการในรัฐสภาทั้งหมด แต่เราจำเป็นต้องเคารพในรัฐธรรมนูญ" นายวิกรมสิงเหยืนยันด้วยว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยตำรวจและทหารระดับสูงเพื่อทำหน้าที่นำความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศแล้ว
ในส่วนของการหลบหนีออกนอกประเทศของปธน.ราชปักษะนั้น รายงานจากสื่อบางแห่งระบุว่า สาเหตุที่เขายังไม่ยอมสละตำแหน่งเมื่อวันพุธก็เพราะต้องการได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฎหมายจากการถูกดำเนินคดีจนกว่าจะเดินทางออกไปนอกประเทศเรียบร้อยแล้ว และแม้ว่าข่าวการหลบหนีออกนอกประเทศของเขา จะสร้างความยินดีให้กับประชาชนจำนวนมากในกรุงโคลัมโบ แต่ผู้ประท้วงบางส่วนก็ไม่พอใจที่ปธน.หลบหนีไปประเทศอื่น เพราะพวกเขาต้องการนำตัวนายราชปักษะมาดำเนินคดีในประเทศ และรับผิดชอบต่อความหายนะทางเศรษฐกิจที่เขาสร้างไว้ให้กับศรีลังกามากกว่า