สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของบราซิล เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยอาการป่วยร่วมทำให้สภาวะของผู้ป่วยแย่ลง
ทั้งนี้ บราซิลมีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1,066 ราย และต้องสงสัยติดเชื้อ 513 ราย ขณะที่มากกว่า 98% เป็นผู้ติดเชื้อเพศชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน
ส่วนในสเปนมีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 3,750 ราย ซึ่ง 120 รายหรือ 3.2% รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และ 1 รายเสียชีวิต โดยที่ทางการสเปนไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลก แต่การติดเชื้อโดยทั่วไปนั้นยังไม่รุนแรง และความเสี่ยงต่อประชากรทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ในประเทศไทยนั้น หลังจากเจอรายแรกเป็นชาวต่างชาติที่จังหวัดภูเก็ต และรายที่ 2 เป็นชายในกรุงเทพมหานคร
คลิกอ่านเพิ่ม : เปิดข้อมูล "ฝีดาษลิงในไทย" กรมควบคุมโรคพบ 13 ราย มีความเสี่ยงสูง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 65 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าขณะนี้พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 ราย อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ และสังเกตอาการพร้อมกักตัว 21 วัน
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ จะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ โดยการสัมผัสกับ ตุ่ม หนอง แผล หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย พร้อมย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 สามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง กินอาหารปรุงสุก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง หรือผู้ป่วยต้องสงสัย