รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีสถานการณ์ร้อนความตึงเครียดระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา หลังจากที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อคืนวานนี้ โดยวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ในช่วงนับจากนี้ไปว่า
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่มีแนวโน้มรุนแรง และบานปลาย เพราะจะมีผลกระทบในระยะสั้นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์แบบ 3 เส้า แบ่งได้ ดังนี้
เส้าที่ 1 เป็นความตึงเครียด โดยอาจมีการเผชิญหน้ากันในหลายกรณี เช่น กรณีของไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก
เส้นที่ 2 เป็นความร่วมมือ แม้จะมีความตึงเครียดเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องแก้ภาวะโลกร้อน เรื่องสาธารณสุข โควิด ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายก็ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เส้นที่ 3 เป็นการแข่งขันระหว่างกัน ทั้งการขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง
ดังนั้นในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นหนึ่งในขาของความตึงเครียด โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถถอยออกมาได้ เนื่องจากประเทศจีน ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังขยายความยิ่งใหญ่ให้จีนกลับคืนมาบนเวทีโลก ผ่านการดำเนินนโยบายที่เข้มข้น และตึงเครียด
“ด้วยนโยบายของจีนที่เป็นลักษณะนี้ เน้นความยิ่งใหญ่ และระบบคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น ดังนั้นกรณีของไต้หวัน จึงถือเป็นความเป็นความตายของจีน เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย และยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทำให้เรื่องนี้มีความสำคัญมาก”
รศ.ดร.สมชาย มองว่า ในปีนี้ ถือเป็นปีสำคัญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการประชุมใหญ่ในรอบ 5 ปี เพื่อยืนยันการพิจารณาต่ออายุการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ สี จิ้นผิง เป็นรอบที่ 3 ได้ จึงทำให้ สี จิ้นผิง แสดงความอ่อนแอออกมาในช่วงนี้ไม่ได้ และต้องยืนหยัดนโยบายด้วยความเข้มข้น และถูกบังคับให้เผชิญหน้า
ขณะที่สหรัฐฯ เองก่อนหน้านี้ถูกมองว่าอยู่ในขาลง ดังนั้นเมื่อจีนเริ่มใช้กำลังยึดไต้หวัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สหรัฐฯจะตอบโต้ โดยเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่า สหรัฐฯ ยังมีเขี้ยวเล็บอยู่และพร้อมรักษาความตกลงความผูกพัน ต่างจากจีนที่กำลังตกอยู่ในสถานะที่อ่อนแอลงต่อเนื่อง เห็นได้จากภาวะเศรษฐกิจที่ดำดิ่งมากที่สุดในรอบ 40 ปี
“สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังทำตอนนี้ คือทำให้จีนเห็นว่าอย่ามาท้าทายเพื่อจะป้องปราม โดยครั้งแรกได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าสามารถบุกมาสร้างความร่วมมือกับอินโด-แปซิฟิคได้ ครั้งที่ 2 สหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังเข้มแข็ง การว่างงานต่ำ และสุดท้าย คือการแสดงแสนยานุภาพทางทหารที่กำลังเล่นงานรัสเซียในขณะนี้ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงเห็นว่ามีความได้เปรียบ ส่วนจีนเองก็ต้องกลับมาคิด โดยดูจากรัสเซีย ที่มีต้นทุนสูงมาก”
ส่วนช็อตต่อไป วิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ มองเกมออกว่า ถ้าความตึงเครียดรุนแรงจนนำไปสู่การต่อสู้กัน จีนจะยังเป็นรองสหรัฐฯ มาก โดยเฉพาะแสนยานุภาพทางอาวุธของสหรัฐฯ ขณะที่จีนเองก็ไม่อยากเสียงที่จะทำอะไรรุนแรง จนเกิดการต่อสู้ เพียงแต่สร้างแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้นเท่านั้น เช่นการซ้อมรบใกล้ใต้หวัน ส่งกองกำลังเข้ามาใกล้มากขึ้น และการคว่ำบาตรเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
“มองแนวโน้มการทำสงครามคงจะไม่มีประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย และถ้าทำขึ้นมาแม้สหรัฐฯ จะได้เปรียบ แต่สุดท้ายก็ย่อยยับเช่นเดียวกัน และจีนเองก็ไม่อยากให้เกิดการขาดเสถียรภาพ และเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะยาวจะไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจมากนัก ยกเว้นแต่ความตื่นกลัวในระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งในอนาคตจีน และสหรัฐฯ ก็ยังมีเวทีการเจรจาเพื่อลดการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องแยกออกเป็นเรื่อง ๆ เหมือนละครที่มีเป็นฉาก ๆ ไป”