อังกฤษเสี่ยง ศก.ถดถอยยาวนานหลังแบงก์ชาติปรับดอกเบี้ย 0.50% แรงสุดรอบ 27 ปี

05 ส.ค. 2565 | 22:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2565 | 06:04 น.

เศรษฐกิจอังกฤษเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นเวลายาวนาน หลังธนาคารกลาง (บีโออี) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด 0.5% ซึ่งถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 27 ปี เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่ใกล้จะทะลุ 13%

คณะกรรมการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (บีโออี) ลงมติ 8 ต่อ 1 เพื่อ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งเเต่ปี 2538 หรือสูงสุดในรอบ 27 ปีเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 ส.ค.) ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และ อัตราเงินเฟ้อ ที่ใกล้จะทะลุ 13%  

 

การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด หากจะพิจารณาถึงกระแสการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 ของบีโออีนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ส่งผลให้ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอังกฤษอยู่ที่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (บีโออี)

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้บีโออีออกมาเตือนด้วยว่า ประเทศอังกฤษอาจจะกำลังเข้าใกล้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะกินเวลานาน คือจะเริ่มถดถอยตั้งแต่ไตรมาส4 ของปีนี้ (2565) ไปจนถึงต้นปี 2567 แนวโน้มดังกล่าวทำให้เงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงทันที

เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว” แถลงการณ์ของบีโออีระบุ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 13.3% ในเดือนต.ค.นี้ และจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดปีหน้า (2566) ก่อนที่จะปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของ BoE ที่ 2% ในปี 2568         

 

ทั้งนี้ เงินเฟ้อในอังกฤษพุ่งแตะ 9.4% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่ราคาอาหารและพลังงานต่างพุ่งขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

ยันอังกฤษไม่ได้เผชิญวิกฤตค่าเงินปอนด์

นายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวยืนยันว่าอังกฤษไม่ได้เผชิญวิกฤตค่าเงินปอนด์ โดยขณะนี้ตลาดปริวรรตเงินตรากำลังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ "นี่ไม่ใช่วิกฤตของค่าเงินปอนด์ เพราะสกุลเงินอื่นๆก็อ่อนค่าลงเหมือนกัน โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ" นายเบลีย์กล่าว หลังจากที่เมื่อกลางสัปดาห์ (4 ส.ค.) ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงราว 10% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่ถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับยูโร

แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี)

ด้าน นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวเต็งว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ กล่าวว่า ตนจะใช้งบประมาณฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอังกฤษ หลังจากที่บีโออี เตือนว่าเศรษฐกิจจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานมากกว่า 1 ปี

 

"ข่าวในวันนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจซึ่งดิฉันเคยนำเสนอ โดยหากได้รับโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ดิฉันจะใช้งบประมาณฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านค่าครองชีพ" นางทรัสส์กล่าว และยังให้คำมั่นที่จะทำการปรับลดอัตราภาษี หากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่

 

ทั้งนี้ สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวนราว 200,000 คนจะลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายบอริส จอห์นสัน และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะในวันที่ 5 ก.ย. ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งผู้ชนะจะเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ และจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ โดยจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี

 

ผลสำรวจล่าสุดพบว่า นางทรัสส์จะมีคะแนนนำนายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญ และหากนางทรัสส์ประสบชัยชนะก็จะทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษต่อจากนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ และนางเทเรซา เมย์ แต่ขณะเดียวกัน เธอก็จะต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนานที่จ่อจะเกิดขึ้นในเวลานี้