กระทรวงการต่างประเทศ อังกฤษ ประกาศผ่านเว็บไซต์ทางการเมื่อวันอังคาร (26 ก.ค.) ระบุว่า ได้มีการสั่งดำเนิน มาตรการลงโทษรัสเซีย เพิ่มเติมกรณีรุกราน ยูเครน ซึ่งมาตรการลงโทษเพิ่มเติมครั้งล่าสุดนี้ ครอบคลุมถึงคำสั่งห้ามการเดินทางและการอายัดทรัพย์สินต่อบุคคลและองค์กรของรัสเซียรวมจำนวน 42 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ว่าการแคว้นต่าง ๆ ของรัสเซียหลายคน รวมทั้งนายวิตาลี คัตเซนโก นายกรัฐมนตรีที่รัสเซียแต่งตั้งให้ไปดูแลแคว้นดอนบาสในยูเครนที่รัสเซียยึดครองมาได้ และนายวลาดิสลาฟ คุซเนตซอฟ รองประธานเขตปกครองพิเศษลูฮันสก์ซึ่งมอสโกก็เพิ่งแต่งตั้งด้วย
นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ครั้งนี้ว่า “เราจะไม่นิ่งเงียบและเฝ้าดูพวกที่เครมลินแต่งตั้งกดขี่ประชาชนของยูเครน หรือลิดรอนเสรีภาพของประชาชน เราจะเดินหน้าดำเนินมาตรการรุนแรงต่อบรรดาผู้ที่พยายามจะทำให้การรุกราน (ยูเครน) อย่างผิดกฎหมายของปูติน กลายเป็นความชอบธรรม เราจะทำเช่นนี้จนกว่ายูเครนจะมีชัย”
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์อนุมัติการขยายเวลามาตรการลงโทษรัสเซียออกไปอีก 6 เดือน หรือ จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2566
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มอสโกเริ่มทำการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียระบุว่า เป็นปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร ไม่ใช่ “สงคราม” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ดำเนินมาตรการลงโทษต่อผู้คนกว่า 1,100 คนและธุรกิจกว่า 100 แห่งของรัสเซียไปแล้ว ส่วนอียูนั้นก็ได้ประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียออกมาแล้วถึง 6 ครั้ง ภายใต้ความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรชาติตะวันตก
ขณะที่รัสเซียเองก็พยายามใช้มาตรการด้านพลังงานเป็นเครื่องมือตอบโต้อียู โดยล่าสุดบริษัท ก๊าซพรอม ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย ประกาศว่าจะลดปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ลงอีกอย่างมาก อ้างเหตุผลว่าจำเป็นต้องซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซหลัก ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะสร้างความยากลำบากให้กับบรรดาชาติสมาชิกอียูซึ่งหลายประเทศจำเป็นต้องสำรองเชื้อเพลิงในคลังเพิ่มเติมก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง
ทั้งนี้ ก๊าซพรอมระบุว่า การระงับการทำงานของกังหันก๊าซที่ท่อส่งโครงการนอร์ด สตรีม 1 จะลดการผลิตก๊าซรายวันลงราว 20% ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนก๊าซทั้งหมดที่ก๊าซพรอมส่งให้อียูในปัจจุบัน
การลดการผลิตก๊าซดังกล่าวจะเริ่มในเวลา 04.00 น. ตามเวลามาตรฐานสากลในวันพุธที่ 27 ก.ค.นี้ ด้านรัฐบาลเยอรมนีระบุว่าไม่มีเหตุผลทางเทคนิคที่ก๊าซพรอมจะจำกัดปริมาณการส่งก๊าซ ส่วนอียูระบุว่าจำเป็นจะต้องหารือกันเพื่อตอบโต้ก๊าซพรอม