CDC แนะวิธีป้องกันฝีดาษลิง หลังสหรัฐประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

09 ส.ค. 2565 | 00:37 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 07:47 น.

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐแนะนำวิธีป้องกัน “ฝีดาษลิง” (monkeypox) หลังรัฐบาลกลางประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อเดือนก.ค.

การแพร่ระบาด อย่างรวดเร็วของ โรคฝีดาษลิง ทำให้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" ในเดือนกรกฎาคม และต่อมารัฐบาลสหรัฐก็ได้ประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินฯ เพื่อยกระดับการรับมือ หลังพบผู้ติดเชื้อในประเทศแล้วกว่า 6,600 ราย

 

นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในแถลงการณ์ว่า การแพร่ระบาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการแพร่เชื้อในรูปแบบใหม่ซึ่งโลกยังมีความเข้าใจน้อยมาก

 

อันตรายของฝีดาษลิง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า โรคฝีดาษลิงอยู่ในตระกูลเดียวกันกับไวรัสไข้ทรพิษ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ในกลุ่มลิงที่ใช้ในการวิจัย และผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกถูกบันทึกไว้ในปี 1970 ส่วนใหญ่แล้วไวรัสนี้จะแพร่ระบาดโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

กระทั่งในปีนี้ เชื้อไวรัสยังไม่ค่อยแพร่กระจายออกนอกทวีปแอฟริกานัก แต่ก็มีในรายงานผู้ป่วยรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศแถบยุโรปและที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า การระบาดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว

อาการของฝีดาษลิงนั้นคล้ายกับไข้ทรพิษ

อาการของโรคฝีดาษลิง

อาการของฝีดาษลิงนั้นคล้ายกับไข้ทรพิษ แต่รุนแรงน้อยกว่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อย และเหนื่อยล้าเท่านั้น แต่บางคนอาจมีผื่นขึ้นโดยมีบาดแผลบนใบหน้าและมือซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ และตามปกติแล้วผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยอยู่ 2-4 สัปดาห์

 

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผื่นที่ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอน นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสนี้ไม่เหมือนกับโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะโรคฝีดาษลิงไม่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ๆ ในอากาศ และถึงแม้ว่าใคร ๆ ก็สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ แต่การแพร่ระบาดนอกแอฟริกาในปัจจุบันดูเหมือนจะแพร่กระจายไปในหมู่ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นหลัก

การประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากหลาย ๆ ประเทศเรียกร้องให้ WHO ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เนื่องจากโรคนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น มักจะนำมาซึ่งทรัพยากรและการดำเนินการเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันในการทดสอบ การผลิตวัคซีน และวิธีการรักษาโรคนี้

 

ปัจจุบัน WHO กล่าวว่าความเสี่ยงของผู้คนทั่วโลกในการติดเชื้อฝีดาษลิงนั้นยังอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นในยุโรปซึ่งถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

 

วิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

CDC แนะนำวิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงไว้ดังนี้

  • ห้ามจับ กอด จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยฝีดาษลิง
  • ห้ามใช้ของที่ใช้ในการกินหรือดื่มร่วมกัน
  • ห้ามสัมผัสผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อ
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลล้างมือ

 

ส่วนในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แนะนำให้ผู้คนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคฝีดาษลิงได้ เช่น ลิงและหนู และว่าควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้วด้วย

 

ในเวลานี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงศึกษาว่า เด็กและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น ๆ หรือไม่

 

การรักษาฝีดาษลิง

หากมีอาการป่วยจากการติดเชื้อฝีดาษลิง CDC สหรัฐแนะนำว่า ผู้ป่วยควรกักตัวเองต่อไป เพราะยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ แต่โรคฝีดาษลิงและไข้ทรพิษนั้นมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรม ซึ่งหมายความว่า ยาต้านไวรัสและวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันไข้ทรพิษอาจถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ด้วย

 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐ และยุโรป กล่าวว่า อาจให้ ยาต้านไวรัส เช่น tecovirimat กับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะมีอาการรุนแรง ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง ซึ่งขณะนี้ได้ถูกกระจายไปยังชุมชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ทั้งในสหรัฐและยุโรป โดย วัคซีน ที่ต้องฉีดสองเข็มนี้ถูกผลิตขึ้นที่โรงงานบริษัท บาวาเรียน นอร์ดิก (Bavarian Nordic)  ในประเทศเดนมาร์ก