หลังจากที่ รัสเซียรุกรานยูเครน ส่งผลให้ราคา ก๊าซและถ่านหิน ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลายประเทศใน เอเชีย ได้เริ่มหันกลับมาสนับสนุนการใช้ พลังงานนิวเคลียร์ อีกครั้ง บ้างก็เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้มากขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า วิกฤตพลังงาน ทั่วโลกทำให้ภูมิภาคเอเชียต้องหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งหลังจากที่เคยหลีกเลี่ยงไปแล้วหลังเกิดเหตุการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ที่จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นในปี 2554
โดยในขณะนี้ รัฐบาล ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ กำลังยกเลิกนโยบายต่อต้านนิวเคลียร์ ขณะที่ จีน และ อินเดีย มีแผนเตรียมจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดแคลนพลังงานในอนาคตและควบคุมการปล่อยมลพิษ
แม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็กำลังทำการสำรวจเทคโนโลยีนิวเคลียร์กันอยู่
ทั้งนี้ เสียงสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่ดังขึ้นอีกครั้งในเอเชียนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินซึ่งใช้ในการผลิตพลังงานส่วนใหญ่ของเอเชีย พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกพากันคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันยังคงตึงตัว และราคาพลังงานยังจะพุ่งสูงขึ้นต่อไปในอนาคต
รัฐบาลนานาประเทศจึงได้หันมาให้ความสนใจพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีความสะอาดและเชื่อถือได้ โดยหวังว่าการใช้พลังงานนิวเคลียร์จะนำมาซึ่งประโยชน์หลัก 3 ประการ คือ
เดวิด เฮสส์ นักวิเคราะห์นโยบายของสมาคมนิวเคลียร์โลก ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์กำลังพังทลายลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุเพราะเห็นได้ชัดว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล
"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่แล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูกที่สุด ยิ่งเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งทะยานขึ้นในช่วงเวลานี้(ซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ก็ยิ่งทำให้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเหล่านี้ มีความชัดเจนมากขึ้นไปอีก"