สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นางลิซ ทรัสส์ ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ จะเดินทางถึงปราสาทบาลมารัลในวันนี้ (6 ก.ย.) เวลา 12.10 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 18.10 น.ตามเวลาไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลาเข้าเฝ้า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเวลาราว 30 นาที เพื่อรับการแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ อย่างเป็นทางการ
ลิซ ทรัสส์ จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปีนี้ และเธอจะเป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ รองจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (ดำรงตำแหน่ง 4 พฤษภาคม 2522 – 28 พฤศจิกายน 2533) และนางเทเรซา เมย์ (ดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม 2559 – 24 กรกฎาคม 2562) ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือน ม.ค.2568
ด้าน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งรักษาการนายกฯอังกฤษหลังประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จะประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันอังคารนี้ (6 ก.ย.) เช่นกัน โดยภารกิจสุดท้ายด้านการต่างประเทศที่เขาทำทิ้งทวนคือการ ต่อสายตรงสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเมื่อวันจันทร์ (5 ก.ย.) โดยนายจอห์นสันแสดงความเชื่อมั่นว่ายูเครนจะสามารถกำชัยชนะในการสู้รบกับรัสเซีย
รายงานข่าวระบุว่า นายจอห์นสันจะประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างเป็นทางการหลังจากที่นางลิซ ทรัสส์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ
ประสบการณ์อัดแน่น เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง
สำหรับประวัติโดยสังเขปบนเส้นทางการทำงานของลิซ ทรัสส์ นั้น เธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2021 โดยก่อนหน้านั้น เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมในปี 2019
ลิซ ทรัสส์ เป็นสมาชิกสภาจากนอร์โฟล์คตะวันตกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2010 และเคยร่วมงานคณะรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคการบริหารประเทศของนายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ และนายบอริส จอห์นสัน
ผู้หญิงเก่งมากความสามารถคนนี้ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเมอร์ตัน ในออกซ์ฟอร์ด สมัยเรียนเธอเคยเป็นประธานของพรรคเสรีประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อจบการศึกษาในปี 1996 เธอก็เข้าร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยม และในเวลาเดียวกันก็ทำงานประจำที่บริษัทเชลล์ เคเบิล แอนด์ ไวร์เลส ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัท
ลิซ ทรัสส์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 ทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ของอังกฤษ แต่เธอก็ได้แสดงศักยภาพและมีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขอนามัยเด็ก การศึกษาคณิตศาสตร์ รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ เธอก่อตั้งกลุ่ม สส. อิสระ ของพรรคอนุรักษ์นิยม และได้เขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม อาทิ After the Coalition (2011) และ Britannia Unchained (2012)
เธอขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยาวชนและการศึกษาในปี 2012-2014 จากนั้นก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมในสมัยของนายเดวิด คาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในปี 2014
ในช่วงที่มีการถกประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า ‘เบร็กซิท’ (Brexit) นั้น ตอนแรกเธอแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่ม ‘บริเทน สตรองเกอร์’ ที่เห็นว่าอังกฤษควรจะอยู่ในอียูต่อไป ต่อเมื่อผลการโหวต(ประชามติ) ออกมาว่า ชาวอังกฤษต้องการจะเลือกแยกตัวออกจากอียู เธอก็ไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
หลังนายคาเมรอน ประกาศลาออกในปี 2016 และนางเทเรซา เมย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทรัสส์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนับเป็นสตรีรายแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ของอังกฤษในรอบหนึ่งพันปี ต่อมาในปี 2017 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคลังจนกระทั่งถึงเดือน ก.ค. 2019
หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกในปี 2019 ทรัสส์สนับสนุนให้นายบอริส จอห์นสันขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม และเขาก็แต่งตั้งให้เธอเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ก่อนจะย้ายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแทนนายโดมินิก ร้าบ ในปี 2021 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เธอยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้เจรจาในเวทียุโรป-สหราชอาณาจักร อีกด้วย
สำหรับชีวิตส่วนตัว ลิซ ทรัสส์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 1975 (พ.ศ. 2518) ปัจจุบันอายุ 47 ปี เธอสมรสแล้วกับนายฮิวจ์ โอเลียรี และมีบุตร 2 คน