หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี นาง ลิซ ทรัสส์ หรือ ‘แมรี่ เอลิซาเบท ทรัสส์’ ก็กลายเป็นหนึ่งในตัวเต็ง ว่าที่หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ โดยอัตโนมัติ เนื่องจากทางพรรคครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยชื่อของเธอเบียดมากับ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลัง คู่แข่งเพียงคนเดียวในขณะนี้ แต่พอเข้าช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน ทรัสส์ก็เริ่มแซงหน้า และจะรู้ผลกันในวันที่ 5 กันยายนนี้ ว่าเธอจะเป็นผู้ชนะหรือไม่
ถ้าลิซ ทรัสส์ ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้รับชัยชนะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ขึ้นมาจริงๆ เธอก็จะกลายเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิง’ ของอังกฤษคนที่สาม ถัดจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และนางเทเรซา เมย์
กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัคร 2 คนสุดท้ายที่จะเข้าสู่การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
2 คนที่ว่านั้นก็คือ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นตัวเต็งเบอร์ 1 ได้คะแนนเสียงสูงสุด 137 คะแนน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 358 คนที่เป็นผู้ลงคะแนน ขณะที่นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันตามมาด้วยคะแนน 113 คะแนน
แต่ต่อมา เกมเริ่มพลิกหลังจากที่ทั้งสองคนเริ่มการรณรงค์หาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากบรรดาสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวนราว 200,000 คน เริ่มเห็นแววว่าเทพีแห่งโชคและชัยชนะกำลังมาอยู่ฝั่งของทรัสส์ สาเหตุหลัก ๆก็คือ สมาชิกพรรคฝ่ายฝักใฝ่ขั้วการเมืองแบบอนุรักษนิยม นับตั้งแต่นายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ รวมทั้งนายบอริส จอห์นสัน มีท่าทีไม่ปลื้มหากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ ทำให้คะแนนความนิยมของนายซูแนค ที่มีเชื้อสายอินเดีย ลดลงชัดเจน และแสงไฟก็สาดส่องมาที่นางลิซ ทรัสส์ แทน
แม้กระทั่ง YouGov ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก็พบว่า นายซูแนค อาจจะต้องพ่ายแพ้ต่อนางทรัสส์ แม้ว่าเขาจะมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ในการลงคะแนนทุกรอบของ ส.ส. พรรคอนุรักษนิยมก็ตาม
YouGov เผยว่า จากการสำรวจสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วอังกฤษ พบว่า นางทรัสส์จะได้รับคะแนนเหนือกว่านายซูแนค 54 ต่อ 35
อย่างไรก็ตาม เหตุผลไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติของเขา แต่เป็นเพราะที่ผ่านมา นายซูแนคมีความเห็นคัดค้านการปรับลดอัตราภาษี โดยเขามองว่า ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ซูแนคยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานระหว่างที่ครองตำแหน่งรัฐมนตรีคลังภายใต้การนำของนายกฯ บอริส จอห์นสันด้วย อีกทั้งประชาชนส่วนหนึ่ง ยังมีความไม่พอใจที่นายซูแนค เป็นผู้หนึ่งที่ไปเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านพักนายกรัฐมนตรี (บอริส จอห์นสัน) ขณะที่อังกฤษยังคงมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
การประกาศรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมจะมีขึ้นในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ผู้ชนะนอกจากจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ยังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ด้วย เนื่องจากพรรคอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เรามาดูประวัติว่าที่นายกฯคนใหม่ของอังกฤษกัน
ลิซ ทรัสส์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2021 โดยก่อนหน้านั้น เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมในปี 2019 เธอเป็นสมาชิกสภาจากนอร์โฟล์คตะวันตกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2010 และเคยร่วมงานคณะรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคการบริหารประเทศของนายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ และนายบอริส จอห์นสัน
ผู้หญิงเก่งมากความสามารถคนนี้ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเมอร์ตัน ในออกซ์ฟอร์ด สมัยเรียนเธอเคยเป็นประธานของพรรคเสรีประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อจบการศึกษาในปี 1996 เธอก็เข้าร่วมกับพรรคอนุรักษนิยม และในเวลาเดียวกันก็ทำงานประจำที่บริษัทเชลล์ เคเบิล แอนด์ ไวร์เลส ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัท
ลิซ ทรัสส์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 ทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ แต่เธอก็ได้แสดงศักยภาพและมีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขอนามัยเด็ก การศึกษาคณิตศาสตร์ รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ เธอก่อตั้งกลุ่ม สส. อิสระ ของพรรคอนุรักษนิยม และได้เขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม อาทิ After the Coalition (2011) และ Britannia Unchained (2012)
เธอขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยาวชนและการศึกษา ในปี 2012-2014 จากนั้นก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมในสมัยของนายเดวิด คาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในปี 2014
ในช่วงที่มีการถกประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า ‘เบร็กซิท’ (Brexit) นั้น ตอนแรกเธอแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่ม ‘บริเทน สตรองเกอร์’ ที่เห็นว่าอังกฤษควรจะอยู่ในอียูต่อไป ต่อเมื่อผลการโหวต(ประชามติ) ออกมาว่า ชาวอังกฤษต้องการจะเลือกแยกตัวออกจากอียู เธอก็ไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
หลังนายคาเมรอน ประกาศลาออกในปี 2016 และนางเทเรซา เมย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทรัสส์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนับเป็นสตรีรายแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ของอังกฤษในรอบหนึ่งพันปี ต่อมาในปี 2017 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคลังจนกระทั่งถึงเดือน ก.ค. 2019
หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกในปี 2019 ทรัสส์สนับสนุนให้นายบอริส จอห์นสันขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม และเขาก็แต่งตั้งให้เธอเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ก่อนจะย้ายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแทนนายโดมินิก ร้าบ ในปี 2021 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เธอยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้เจรจาในเวทียุโรป-สหราชอาณาจักร อีกด้วย
ชีวิตส่วนตัว ลิซ ทรัสส์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 1975 (พ.ศ. 2518) ปัจจุบันอายุ 47 ปี เธอสมรสแล้วกับนายฮิวจ์ โอเลียรี และมีบุตร 2 คน