นัดหยุดงานทั่วฝรั่งเศส: ขอขึ้นค่าแรงสู้เงินเฟ้อ-วิกฤตพลังงาน

19 ต.ค. 2565 | 01:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 09:01 น.

สหภาพแรงงานฝรั่งเศสเริ่มการนัดหยุดงานทั่วประเทศแล้ววานนี้ (18 ต.ค.) เรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างแรงงานท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายสิบปี ทำให้บริการสาธารณะเช่น รถไฟหลายเส้นทางหยุดชะงัก นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง

สื่อต่างประเทศรายงานว่า การนัดหยุดงานทั่วฝรั่งเศส ครั้งนี้ จะส่งผลต่อภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรงเรียนและบริการด้านคมนาคมขนส่ง เป็น การประท้วงต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นมาหลายสัปดาห์โดยเริ่มมาจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการสะดุดขัดในการดำเนินงานของโรงกลั่นใหญ่ ๆ ของ ฝรั่งเศส กระทั่งเกิดความยุ่งเหยิงในอุปทานน้ำมันของบรรดาสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ สหภาพเซเฌเต ซึ่งเป็นสหภาพฝั่งซ้ายของฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้พนักงานในบริษัท โททาลอิเนอร์จีส์ (TotalEnergies) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน หยุดงานเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน แม้บริษัทจะเสนอขึ้นค่าแรงให้ 7% พร้อมโบนัสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ต.ค.) แต่ฝั่งสหภาพนั้นเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงในอัตรา 10% โดยอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อ และกำไรมหาศาลของบริษัท การหยุดงานประท้วงของพนักงานโททาลฯ ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเชื้อเพลิงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลาง และที่กรุงปารีส

ฝรั่งเศสนัดหยุดงานทั่วประเทศ

ทางด้าน บริษัทยูโรสตาร์ ซึ่งให้บริการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางระหว่างสหราชอาณาจักร และยุโรปภาคพื้น กล่าวว่าบริษัทได้ยกเลิกการให้บริการรถไฟบางขบวนในเส้นทางลอนดอนไปยังปารีสจากเหตุการณ์นัดหยุดงาน ขณะเดียวกัน บริษัทการรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) เปิดเผยว่า การจราจรบนทางเชื่อมท้องถิ่นลดลง 50% แต่ยังไม่เห็นถึงผลกระทบในเส้นทางหลัก

 

การนัดหยุดงานที่สร้างความตึงเครียดในฝรั่งเศสเริ่มแผ่กระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น กลุ่มพลังงาน ซึ่งรวมถึงผู้ดำเนินการด้านไฟฟ้าแห่งประเทศฝรั่งเศส และผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อย่างบริษัท EDF ที่ออกมาระบุว่า การนัดหยุดงานจะทำให้การดำเนินงานด้านการบำรุงรักษาเนิ่นช้าออกไป และจะส่งผลรุนแรงต่ออุปทานพลังงานในยุโรปในที่สุด

 

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานระบุเมื่อต้นสัปดาห์ (17 ต.ค.) ว่า การนัดหยุดงานเป็นวงกว้างนี้ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในฝรั่งเศสถึง 10 แห่ง ซึ่งงานซ่อมบำรุงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 13 จุดจะต้องล่าช้าออกไป และกำลังการผลิตพลังงานของประเทศฝรั่งเศสจะลดลงราว 2.2 กิกะวัตต์ และจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อการจัดหาไฟฟ้าในฤดูหนาวนี้

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า

 

ด้าน สหภาพราชการฝ่ายพลเรือน ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพฯ เข้าร่วมการประท้วงหยุดงานกับภาคส่วนอื่นๆด้วย ทำให้เกิดการชะงักงันในโรงเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะอื่น ๆ

 

ส่วน กลุ่มสหภาพแรงงานจากอุตสาหกรรมโลหะ ที่ร่วมการชุมนุมประท้วงในเมืองสตาร์บวร์ก ยอมรับว่า ทางกลุ่มจำเป็นต้องมีการชุมนุมปิดถนน เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ ก็จะไม่มีใครรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขา

 

การประท้วงและนัดหยุดงานครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้นเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนจะให้การรับรองร่างงบประมาณปี 2566 โดยใช้อำนาจพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ไม่จำเป็นต้องผ่านการออกเสียงลงความเห็นในสภา

 

กระทรวงกิจการภายในของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า การชุมนุมประท้วงเมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ประท้วงรวมกันประมาณ 107,000 คน โดยเฉพาะในกรุงปารีสประมาณ 13,000 คน อีกทั้งยังมีเหตุการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มสีดำ" ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมเข้าร่วมการประท้วง และมีการพ่นสีตามกำแพง-อาคาร ทุบกระจกธนาคารและสำนักงานตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BMW ทำให้มีผู้ประท้วงถูกตำรวจปราบจลาจลควบคุมตัว 11 คน และมีเจ้าหน้าที่ 9 นายได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ประท้วง ในวันเดียวกัน ที่เมืองอื่น ๆ มีผู้ประท้วงที่ถูกตำรวจจับกุมรวม 4 คน

 

ผลสำรวจจาก Elabe ของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า มีประชาชนเพียง 39% เท่านั้นที่ “เห็นด้วย” กับการนัดหยุดงานเมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) และอีก 49% “ไม่เห็นด้วย” กับการกระทำดังกล่าว พร้อมกันนั้นตัวเลขของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดงานในโรงกลั่น ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ ได้เพิ่มแรงกดดันมากยิ่งขึ้นต่อรัฐบาลของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีหน้า เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดการดำเนินนโนบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ภาวะขาดแคลนน้ำมัน และภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักภายในประเทศ