การเมืองทำพิษ เงินหยวนอ่อนหนักทะลุ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ 

25 ต.ค. 2565 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2565 | 15:54 น.

ค่าเงินหยวนในตลาดนอกประเทศจีน ถือเป็นสกุลเงินที่มีผลงาน "ย่ำแย่ที่สุด" ในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียเมื่อวันจันทร์ (24 ต.ค.) ขณะที่ค่าเงินหยวนในประเทศจีนก็ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี ซ้ำยังมีโอกาสร่วงลงได้อีก จากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ


ค่าเงินหยวนนอกประเทศจีน อ่อนค่าลงผ่านระดับ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์แล้ว หลังจาก การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 ต.ค. โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับการต่ออำนาจและส่งสัญญาณว่าจีนจะใช้นโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ต่อไป ขณะที่กระแสเงินทุนยังคงไหลออกต่อเนื่องจากการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวานนี้ (24 ต.ค.) ว่า ค่าเงินหยวนปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.3098 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตลอดกาลนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายในปี ค.ศ. 2010 หรือ พ.ศ. 2553

 

สาเหตุหลักมาจากการต่ออำนาจปกครองประเทศเป็นสมัยที่สามของรัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลจีนจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" หรือ Zero-COVID policy แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจีนอยู่มากก็ตาม

เงินหยวนกำลังอ่อนค่า (ขอบคุณแฟ้มภาพซินหัว)

จากผลการสำรวจของบลูมเบิร์กเมื่อเร็วๆนี้ พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ค้าเงินหยวนที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามการสำรวจ คาดการณ์ว่าค่าเงินหยวนปีนี้ (2565) อาจอ่อนค่าลงได้อีกจนแตะระดับ 7.4 หรือ 7.5 หยวนต่อดอลลาร์ ขณะที่ประมาณ 10% มองว่าเงินหยวนมีโอกาสแตะ 7.25 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

 
รายงานระบุว่า ค่าเงินหยวนในตลาดนอกประเทศจีน ถือเป็นสกุลเงินที่มีผลงาน "ย่ำแย่ที่สุด" ในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ต.ค.) ขณะที่ค่าเงินหยวนในประเทศจีนก็ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี 


นักวิเคราะห์คาดหมายว่า ค่าเงินหยวนยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ปรับตัวลดลงได้อีก เนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นการเหตุปัจจัยให้เงินทุนไหลออกจากตลาดจีน ไม่เพียงเท่านั้น การที่ธนาคารกลางจีนประกาศยุติการตรึงค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่องเมื่อวันจันทร์ (24 ต.ค.) ยังเป็นสัญญาณการสนับสนุนให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง 

 
สัญญาณทางการเมืองของจีนไม่เพียงส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่า แต่ยังทำให้บรรดาหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐมีราคาปรับลดลงด้วย โดยมีรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (24 ต.ค.) หุ้นของบรรดาบริษัทจีนในตลาดสหรัฐ ร่วงลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินหน้ากระชับอำนาจไว้อย่างรัดกุมเหนียวแน่น แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมองว่า การกุมอำนาจบ็ดเสร็จเด็ดขาดของฝ่ายบริหารไว้เช่นนั้น ทำให้หุ้นของบริษัทจีนไม่น่าลงทุน 
 

Invesco Golden Dragon China ETF ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี Nasdaq Golden Dragon China พบว่า ร่วงลง 14.5% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา  โดย ETF ร่วงลงมากกว่า 20% เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.
 

ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างอาลีบาบา (Alibaba) ลดลงแล้วมากกว่า 12% หลังจากก่อนหน้านี้ลดลงไปมากกว่า 19% จนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ ด้านบริษัท เท็นเซนต์ มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (Tencent Music Entertainment) ราคาหุ้นปรับลดลง 5% เทียบกับการลดลงก่อนหน้านี้ที่ 18% หรือหุ้นของบริษัทพินตัวตัว (Pinduoduo) ที่ปิดตลาดลดลง 24.6% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตกลงไป 34% เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม)

 

 

นายมาร์ก ชิลส์ก นักวิเคราะห์ตลาด ให้ความเห็นว่า หุ้นจีนไม่น่าลงทุนอีกต่อไป โดยดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2009 ขณะที่ดัชนี  Shanghai Composite และดัชนี Shenzhen Component ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ต่างปรับตัวลดลงประมาณ 2%

 

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับการต่ออำนาจเป็นผู้นำในสมัยที่ 3 ได้อย่างราบรื่น อีกทั้งยังเดินหน้าตอกย้ำสร้างฐานรากของอำนาจให้มั่นคงมากขึ้นด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ชุดใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นพันธมิตรหรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับปธน.สี จิ้นผิง ทั้งสิ้น 

 

บลูมเบิร์กรายงานว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คาดว่ารัฐบาลจีนจะยังคงยึดมั่นในนโยบาย Zero-COVID ที่เข้มงวด แม้ว่าโลกส่วนใหญ่ได้เปิดเศรษฐกิจแล้วก็ตาม ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโต นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านต่างๆ ตั้งแต่การปกป้องข้อมูลไปจนถึงการควบคุมวิธีการใช้อัลกอริทึม ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนขยับตัวภายใต้ข้อจำกัดและอึดอัดมากขึ้น