นโยบาย VS ความท้าทายสุดหินของ ‘ริชี ซูนัค’ นายกฯ อังกฤษคนใหม่ 

25 ต.ค. 2565 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 08:29 น.

"ริชี ซูนัค" หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่วัย 42 เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (25 ต.ค.) หลังเข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่3 เขาจะแถลงรับตำแหน่งหน้าบ้านเลขที่10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นทั้งที่พักนายกฯ และทำเนียบรัฐบาลในวันนี้เช่นกัน

 

"ริชี ซูนัค" หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (25 ต.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รวบรวมความท้าทายต่าง ๆ ที่ซูนัคจะต้องเผชิญ เทียบกับนโยบายการทำงานที่เขาเคยประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งลงชิงตำแหน่งผู้นำอังกฤษครั้งแรกกับนางลิซ ทรัสส์ พบว่าโจทย์หินโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจนั้นยังรออยู่ข้างหน้าอีกมาก

 

ทันทีที่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาแถลงด้านนอกบ้านพักนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยอมรับว่า อังกฤษกำลังเผชิญปัญหาท้าทายมากมาย และเขาพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากนโยบายของนางลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรี


"ประเทศของเรากำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และการที่รัสเซียทำสงครามในยูเครนก็ได้ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในตลาดพลังงานและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก"


นอกจากนี้ นายซูนัคยังได้กล่าวชื่นชมนางทรัสส์ โดยระบุว่า นางทรัสส์ไม่ผิดที่มีความต้องการที่จะให้เศรษฐกิจอังกฤษมีการขยายตัว อย่างไรก็ดี นายซูนัคกล่าวว่า มีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากเจตนาร้าย ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว


"ผมจะให้ประเด็นการรักษาเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เป็นหัวใจในวาระการทำงานของรัฐบาล ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลอาจต้องทำการตัดสินใจที่ยากลำบากตามมา แต่ผมจะปกป้องประชาชนและภาคธุรกิจเหมือนกับที่ผมได้ดำเนินการในช่วงเกิดโควิด-19" 

 

ริชี ซูนัค นายกฯอังกฤษคนใหม่ ผมจะให้ประเด็นการรักษาเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เป็นหัวใจในวาระการทำงานของรัฐบาล

 

ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

อังกฤษกำลังเผชิญทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ หรือ บีโออี พยายามคุมอัตราดอกเบี้ยที่แตะสองหลักขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและมีรายได้ที่แท้จริงลดลง

อังกฤษต้องฟื้นฟูความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับนานาชาติ หลังลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า ออกนโยบายลดภาษีโดยไม่มีงบสนับสนุน ทั้งยังการันตีราคาพลังงานที่ต้องใช้งบประมาณสูง จนส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา จนบีโอเอต้องเข้ามาแทรกแซงตลาด

 

นั่นหมายความว่า ซูนัคในฐานะผู้นำคนใหม่ของอังกฤษอาจพิจารณาลดการใช้จ่ายของภาครัฐและเพิ่มภาษี เพื่อสร้างสมดุลให้กับงบประมาณรัฐที่ลดลงอย่างมากและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทั้งนี้ นายกฯ คนใหม่มีกำหนดแถลงงบประมาณในวันที่ 31 ต.ค.ที่จะถึงนี้
 

รัฐบาลอังกฤษยังมีความท้าทายอีกประการ คือการเผชิญแรงกดดันที่ต้องช่วยเหลือครัวเรือนที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทั้งจากเงินกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้น บวกกับค่าอาหารและค่าพลังงานที่สูงขึ้น อันเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครนและปัจจัยอื่น ๆ จากทั่วโลก

นโยบายเศรษฐกิจ
ซูนัคระบุในแถลงการณ์ที่เขาเผยแพร่ผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ (23 ต.ค.) ว่า อังกฤษได้เผชิญกับ “วิกฤตทางเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึก”
 

การบริหารของซูนัคขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีส่วนทำให้อังกฤษต้องเผชิญ "ภาระทางภาษี" หนักที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เขายังกำหนดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็รับปากว่าจะเพิ่มระเบียบวินัยทางการเงินมากขึ้น



ซูนัคยังเคยวิจารณ์นโยบายลดภาษีของนายกฯ ทรัสส์ โดยระบุว่า เขาจะลดภาษีก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้แล้ว เขายังเคยเสนอแผนลดภาษีเงินได้จาก 20% ให้เหลือ 16% ภายในปี 2029 ด้วย



นอกจากนี้ ซูนัคยังสนับสนุนความเป็นอิสระของบีโออี และเน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องออกนโยบายเคียงคู่ไปกับธนาคารกลางเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ ไม่ใช่ทำให้ภาวะดังกล่าวย่ำแย่ลง

 

ความท้าทายแรก ๆ ที่ริชี ซูนัค จะต้องเผชิญคือ การกุมบังเหียนและขจัดความขัดแย้งภายในพรรค

ความท้าทายทางการเมือง

ความท้าทายแรก ๆ ที่ริชี ซูนัค จะต้องเผชิญคือ การกุมบังเหียนควบคุมพรรคอนุรักษ์นิยม ที่แม้จะมีเสียงข้างมากในสภาแต่ก็มีความแตกแยกภายในพรรคอย่างชัดเจน ในประเด็นต่าง ๆ เช่น เบร็กซิท (การแยกตัวของอังกฤษจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) ผู้อพยพ และการบริหารเศรษฐกิจ



สมาชิกพรรคบางส่วนมีแนวโน้มไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อการเพิ่มภาษี ขณะที่สมาชิกบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในด้านที่สำคัญ เช่น สาธารณสุข และการป้องกันประเทศ



จะเห็นได้ว่า การคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟของซูนัค เป็นเพียงก้าวแรกของการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวภายในพรรค โดยหัวหน้าพรรค 2 คนที่ผ่านมา ได้ถูกพรรคขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากความเห็นต่างภายใน นอกจากนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อโต้เถียงภายในพรรคเกี่ยวกับประเด็นเบร็กซิท



ในประเด็นเบร็กซิทนั้น ซูนัคสนับสนุนเบร็กซิท (การแยกตัวออกจากอียู) ระหว่างการทำประชามติในปี 2016 แต่สมาชิกพรรคฝ่ายขวาบางส่วนยังเห็นว่า ซูนัคมีแนวคิดเข้าข้างสหภาพยุโรป หรือ อียู มากเกินไป

 

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า หนึ่งในประเด็นหลักของเบร็กซิทคือการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับไอร์แลนด์เหนือ ซูนัคจะต้องเผชิญแรงกดดันในการปรับข้อตกลงออกจากอียูที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว เขายังจะต้องเผชิญข้อเรียกร้องในการควบคุมผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาชิกสภาจากพรรคอนุรักษ์นิยมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย
 

นโยบายการเมือง
ซูนัคระบุในแถลงการณ์ว่า เขาต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และทำให้พรรคมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ที่สำคัญคือเขาต้องการทำงานเพื่อประเทศชาติ



ในประเด็นที่เกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือ ซูนัคเคยระบุว่า เขาจะผลักดันกฎหมายที่ถูกออกแบบให้มีอำนาจภายในประเทศมากกว่าข้อตกลงเบร็กซิท และในขณะเดียวกันก็จะเจรจากับอียูไปด้วย โดยร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณานี้กำลังถูกอียูวิจารณ์อย่างหนัก

 

เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ซูนัคเคยระบุว่า จะทำให้ข้อตกลงเบร็กซิทเป็นไปอย่างปลอดภัย และจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐเพื่อทบทวนกฎระเบียบของอียูที่เป็นไปในทางเดียวกับกฎหมายของอังกฤษ



ในขณะชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งก่อนหน้านี้ ซูนัคเคยกล่าวไว้ว่า เขาภูมิใจที่มาจากครอบครัวผู้อพยพ แต่เขาเชื่อว่าอังกฤษต้องควบคุมชายแดน และเชื่อว่ายังคงต้องดำเนินตามแผนส่งผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับไปยังประเทศรวันดา นอกจากนี้ เขากล่าวว่า จะไม่ยับยั้งแผนการ ที่อังกฤษจะถอนตัวจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปด้วย