นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และนางอึงโกซี โอโกนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมหารือกับนาย โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่กรุงเบอร์ลิน วานนี้ (29 พ.ย.) โดยทั้งคู่ออกโรงเตือนเกี่ยวกับ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในปีหน้า (2566) พร้อมวอนนานาประเทศ “อย่าดึงปลั๊กการค้าโลก” ด้วยการตั้งกำแพงการค้าซึ่งกันและกัน แยกขั้วการค้าโลกเป็นฝักฝ่าย เพราะยิ่งทำเช่นนั้นระบบการค้าโลกก็จะสะดุด และผู้เจ็บตัวมากที่สุดก็คือบรรดาประเทศกำลังพัฒนา
ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรขนาดใหญ่ทางการเงินและการค้าโลก เห็นพ้องว่า โลกาภิวัตน์กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน
นางอึงโกซี โอโกนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดประเด็นด้วยการสะท้อนมุมมองจากรายงานการประเมินสถานการณ์ของ WTO ว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม สถานการณ์แบ่งแยกเช่นนี้จะลดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกลง 5% ในระยะยาว
“การถอยห่างจากการค้าเสรี แล้วหันมาสร้างกำแพงป้องกันตลาดของตัวเอง จะทำให้ทุกอย่างยากลำบากมากขึ้น ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลย”
ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ย้ำว่า การสร้างระบบกีดกันการค้า แยกตัวออกจากระบบการค้าโลก และความแตกแยก ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและจะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงมาก พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้นานาประเทศกระจายการกระจุกตัวของห่วงโซ่การผลิตอย่างชาญฉลาด และเตือนไม่ให้ใช้นโยบาย friend-shoring หรือการเลือกทำธุรกรรมการค้า-การลงทุนเฉพาะกับประเทศที่เป็นมิตรทางการเมืองเท่านั้น มากจนเกินไป
“ใครคือเพื่อน? เพื่อนในวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจแปรเปลี่ยนไม่เป็นมิตรแล้วก็เป็นได้”
ส่วน คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ข้อมูลชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปีหน้า (2566) อาจจะต่ำกว่า 2.7% ซึ่งเป็นระดับที่ IMF เคยคาดการณ์ไว้เมื่อกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
“ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ชี้ให้เห็นถึงการอ่อนตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เชื่อว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในปี 2566”
IMF คาดหมายว่า
ทั้งคริสตาลินา จอร์เจียวา และอึงโกซี โอโกนโจ-อิเวลา กล่าวว่า ผลกระทบของการถอยห่างจากโลกาภิวัตน์และการแยกส่วนการค้าโลกออกเป็นกลุ่มๆ จะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่อย่างหนักหน่วงที่สุด โดยผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศเหล่านั้นจะอยู่ในตัวเลขสองหลัก