วันดินโลก (World Soil Day) ซึ่งตรงกับ วันที่ 5 ธันวาคม นั้น มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการโดย องค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ทุกคนในโลกได้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของดินและสนับสนุนการจัดการดินอย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับ พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาที่ดินในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
ที่มาของวันดินโลก
วันดินโลก ภาษาอังกฤษเรียกว่า World Soil Day (WDS) ถือกำเนิดเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การขับเคลื่อนของประเทศไทย และภายใต้กรอบของ Global Soil Partnership ในงานประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลกครั้งที่ 17 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครในปีนั้น
โดยในงานดังกล่าวมีนักปฐพีวิทยาทั่วโลกมาร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง โดยเหตุผลที่ทางการไทยและ Global Soil Partnership ได้เสนอวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ ในการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประจักษ์ในผลสำเร็จไปทั่วโลก
เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และ ขอพระบรมราชาอนุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันดินโลก" เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ
ต่อมา ทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO) ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ‘วันดินโลก’ ขึ้นอย่างเป็นสากล และรับรองวันดินโลกอย่างเป็นทางการในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 68 ในเดือนธันวาคม 2556
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้วันดินโลกได้รับความสำคัญและเกิดการกระตุ้นให้ทุกคนร่วมมือกันรักษาดิน เพื่อดินทั่วโลกได้รับความใส่ใจมากขึ้นในที่สุด
ทางองค์การสหประชาชาติได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ทุกปีในวันนี้ อาทิ การประกาศให้ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เป็น "ปีดินสากล" ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม นำเสนอประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก
ความสำคัญของดิน
ดินเป็นรากฐานของสิ่งมีชีวิตมากมายบนโลก เปรียบเสมือนผิวหนังที่มีชีวิตของโลก การผลิตอาหารทั่วโลกล้วนพึ่งพาดินเป็นหลักแทบทั้งสิ้น ดินประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่ซับซ้อนของแร่ธาตุ น้ำ อากาศ อินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันเป็นธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อบำรุงต้นกล้าให้เจริญเติบโต เกิดดอกออกผลให้แก่เกษตรกร จนกลายเป็นผลผลิตทางการเกษตรเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคนทั้งโลก
ขณะเดียวกัน ดินก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตมากมาย ซึ่งมีตั้งแต่จุลินทรีย์ขนาดเล็กจนมองไม่เห็นไปจนถึงพืชและสัตว์ต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพนี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของดินและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับดิน
เราทุกคนจึงจำเป็นต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของดินเพื่อปกป้องระบบธรรมชาติและระบบนิเวศ ดังนั้น การจัดการดินด้วยความใส่ใจในรายละเอียด นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรรมยั่งยืน และยังสามารถปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพไว้ เพื่อให้ดินมีคุณภาพและหนุนให้การผลิตอาหารเลี้ยงโลกของเราสมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง