เทรนด์ฮอต 'แรงงานหุ่นยนต์’ ช่วยร้านค้าฝ่าปัญหาเงินเฟ้อ-ค่าแรงพุ่ง

19 ธ.ค. 2565 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 11:25 น.

ธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ บวกกับค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนมากพบว่า ทางออกของพวกเขาคือการหันพึ่งพาแรงงานหุ่นยนต์และเทคโนโลยี

 

แม้ว่า ธุรกิจค้าปลีก จะนำ หุ่นยนต์ และ ระบบอัตโนมัติ มาใช้ช้ากว่าอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็นับว่าอัตราการพึ่งพาระบบนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การนำระบบชำระเงินด้วยตนเองแบบง่าย ๆ มาใช้ในร้านค้า ไปจนถึงการใช้หุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในสายการผลิตและ ภาคบริการ

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ International Federation of Robotics ระบุ ในช่วงปีที่ผ่านมา (2564) การติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายหุ่นยนต์บริการเพิ่มขึ้น 37% โดยภาคค้าปลีกเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

 

นายมาร์ค เชอร์ลีย์ หัวหน้าฝ่ายโลจิสติกส์ของบริษัทไพรมาร์ค (Primark) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักธุรกิจชาวไอริชกล่าวว่าการลงทุนของบริษัทมูลค่า 25 ล้านยูโร หรือราว 900 ล้านบาท ในระบบทำงานอัตโนมัติของคลังสินค้าที่เมืองรูสเซนดาล จะเริ่มคืนทุนปีละ 8 ล้านยูโรในอีก 4 ปีข้างหน้า นอกเหนือไปจากการประหยัดค่าใช้จ่าย สาเหตุเพราะที่ไม่ต้องเช่าคลังสินค้าเพิ่มอีก

"คุณลูกค้าจะให้ผมช่วยอะไร บอกได้นะครับ"

คลังสินค้าขนาดใหญ่ของบริษัทไพรมาร์คในเมืองรูสเซนดาล ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ นำเครนอัตโนมัติและยานพาหนะไร้คนขับมาใช้เพื่อจัดกองเสื้อผ้าให้กับร้านค้าปลีกไพร์มาร์ค (Primark) ซึ่งมีอยู่ในฝรั่งเศสและอิตาลี เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนคนงาน อีกทั้งยังลดต้นทุนในการจัดหาคลังสินค้าเพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

เขาประเมินว่าการใช้ ‘เครนอัตโนมัติ’ แทนการใช้รถยกที่ต้องมีคนควบคุม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในคลังสินค้าได้ถึง 80% เลยทีเดียว และที่สำคัญคือ การใช้แรงงานหุ่นยนต์หมายความว่าบริษัทไม่ต้องแข่งขันในตลาดแรงงานที่กำลังตึงตัวอย่างมากอีกต่อไป เรื่องดังกล่าวเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศ

 

เชอร์ลีย์กล่าวว่า เมื่อมองภาพรวมของอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการหันมาใช้หุ่นยนต์และระบบการทำงานอัตโนมัติ ก็เพื่อลดความเสี่ยงในด้านแรงงาน เขาประเมินด้วยว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกราว 40% ล้วนใช้ระบบอัตโนมัติ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-65% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้านี้

พร้อมให้ข้อมูลด้านต่างๆ

 

กองทัพหุ่นยนต์บุกธุรกิจภาคบริการ

 

กองทัพหุ่นยนต์ที่เดินสวนสนามกันไปมานั้น เริ่มเห็นได้มากขึ้นตามร้านสินค้าแฟชั่นและร้านขายอาหารทั่วโลก ซึ่งปกติต้องพึ่งพาแรงงานนับล้านคน แต่ธุรกิจเหล่านี้กำลังเผชิญกับต้นทุนค่าจ้าง ค่าพลังงาน และค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคก็มีกำลังซื้อตึงตัว โดยข้อมูลจากแอมะซอน (Amazon) ผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เตือนว่า งบประมาณในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคตึงตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป

 

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ค้าปลีกทั่วยุโรปต่างก็ใช้แนวทางที่แตกต่างกันไปเพื่อรับมือกับปัญหา เช่น

  • บริษัทคาร์ฟูร์ ผู้ค้าปลีกอาหารสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งเป้าว่าจะลดต้นทุนและลดความซับซ้อนของประเภทสินค้าที่จำหน่ายลง
  • ขณะที่เทสโก้ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดสัญชาติอังกฤษ กลับยอมรับในผลกำไรที่ลดลง
  • ส่วนบริษัท อินดิเท็กซ์ (Inditex) เจ้าของร้านเสื้อผ้า ‘ซาร่า’ (Zara) ได้ขึ้นราคาเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น
  • และ เอบี ฟู้ดส์ (AB Foods) เจ้าของไพร์มาร์ค กล่าวว่าผู้ค้าปลีกแฟชั่นที่มีราคาต้นทุนต่ำจะจำกัดการขึ้นราคา แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะเลขสองหลักในตลาดหลายแห่ง เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถจ่ายได้อีกต่อไป

 

ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก

พร้อมเสิร์ฟ

ที่ปรึกษาของบริษัทแมคคินซีย์กล่าวว่า แม้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ของระบบค้าปลีกออนไลน์จะหันมาใช้ระบบอัตโนมัติกันมากขึ้น แต่การดำเนินธุรกิจในภาพรวมของผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการทำงานโดยใช้แรงงานมนุษย์อยู่

 

“เรากำลังอยู่ในระยะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นและมีราคาถูกลง และการใช้ระบบอัตโนมัติในบางพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้น” แอนนิตา บัลชันดานิ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกในสาขาเครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่น และสินค้าฟุ่มเฟือยในอังกฤษกล่าวให้ความเห็น และยังคาดการณ์ว่า บริษัทแฟชั่นจะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นสองเท่าจาก 1.6% เป็น 1.8% ของรายรับในปี 2021 เป็น 3.0% และ 3.5% ภายในปี 2030

 

โดยแบรนด์แฟชั่นจะรวมกระบวนการดิจิทัลเข้าด้วยกันอย่างเต็มรูปแบบ สามารถลดเวลาที่ใช้ในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ยอดขายสินค้าในราคาเต็มเพิ่มขึ้น 8% และต้นทุนการผลิตลดลงได้ 20%

 

เราคงได้เห็นหุ่นยนต์ให้บริการในธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวกำลังขับเคลื่อนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในธุรกิจค้าปลีกด้านอาหารด้วย โดยบริษัทต่าง ๆ ได้ลงทุนในหุ่นยนต์ทำความสะอาด ป้ายราคาอิเล็กทรอนิกส์ตรงชั้นวางสินค้า และเทคโนโลยีที่ช่วยแจ้งเตือนระดับสินค้าคงคลังตามช่วงเวลาจริงและช่วยจัดการเติมสินค้า เป็นต้น