เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (3)

25 ธ.ค. 2565 | 03:33 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3847

 

คำถามที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทำไมจีนต้องลดพื้นที่การเพาะปลูกถั่วเหลือง? อย่างที่เกริ่นไปว่า จีนเผชิญกับความท้าทายในการแบ่งปันพื้นที่การเพาะปลูกแก่พืชหลากหลายประเภท 


นั่นหมายความว่า ในด้านหนึ่ง การพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้จีนจัดสรรพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกข้าว ข้าวสาลี และสินค้าเกษตรอื่น ซึ่งมีความต้องการสูงเช่นกันในจีน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การพึ่งพาถั่วเหลืองนำเข้าในระดับที่สูง ก็ถือเป็นจุดอ่อน “ขนาดใหญ่” ในมิติความมั่นคงด้านอาหารของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เปิดเกมส์ “สงครามการค้า” กับจีนในช่วง 4-5 ปีหลังนี้


ด้วยสถานการณ์เช่นนี้เอง เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนจึงได้ปรับนโยบายใหม่โดยหันมาให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกถั่วเหลืองและพืชน้ำมันภายในประเทศมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใน 5-10 ปี อาทิ การเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในแถบอีสานจีน มาปลูกถั่วเหลือง การทดลองเพาะปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ดินเค็มที่จีนมีอยู่มาก และต้องการผันเอามาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และการเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับการเปลี่ยนจากการเพาะปลูกข้าวโพดไปสู่ถั่วเหลือง


นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จีนจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองในฤดูกาลปี 2022/2023 เป็น 58 ล้านไร่ และจะทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านตันเป็น 18.4 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต


ประการสำคัญ จีนยังต้องการสร้างความกระชุ่มกระชวยกับ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพื่อเปลี่ยนเกมส์การแข่งขันในเวทีโลก โดยให้ประเด็น “สีเขียว” และ “ความยั่งยืน” เป็นหัวใจของการพัฒนาถั่วเหลือง โดยหันมาสร้างระบบการสืบย้อนกลับถั่วเหลืองที่ปราศจากการตัดต่อพันธุกรรม (GM-Free) ที่ประเทศผู้ผลิตชั้นนำมองข้าม ในปี 2018 จีนได้เริ่มทดลองใช้ระบบการสืบค้นย้อนกลับสีเขียว (Green Traceability System) ที่ตามมาด้วยมาตรฐานใบรับรองสินค้าออกานิกส์และสินค้าสีเขียว 


ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐ อุตสาหกรรมในจีนต่างใช้มาตรฐานระหว่างประเทศให้เป็นเสมือน “เกณฑ์มาตรฐาน” ที่รับรองสินค้าในมิติคุณภาพ ความปลอดภัย และความเป็นสีเขียว ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถจำหน่ายสินค้าแปรรูป อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง และซอสถั่วเหลือง ที่มีมาตรฐานสูงเหล่านี้ในราคาที่สูงขึ้น 


ในเดือนมิถุนายน 2020 ขณะที่โลกกำลังวุ่นวายอยู่กับวิกฤติโควิด-19 คาร์กิลล์ (Cargill) เทรดเดอร์สินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ก็ได้เปิดตัวแบรนด์โปรตีนจากพืชภายใต้ชื่อ “PlantEver” โดยจำหน่ายนักเก็ตทำจากพืชในแฟรนไชส์ร้านอาหารจานด่วนเคเอฟซี (KFC) ทั่วจีน และผ่านอีคอมเมิร์ซ สินค้าถูกขายในระดับราคาเดียวกับผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ โดยใช้สโลแกนที่บรรจุภัณฑ์โทนสีเขียว (แทนสีแดง) ที่แปลเป็นไทยว่า “การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพสัตว์” ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มวัยรุ่นจีนได้อย่างกว้างขวาง


เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มซันเนอร์ (Sunner Group) ที่ทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่รายใหญ่ของจีน ก็ยังจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรอย่างซีดีพี (CDP) องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ให้บริการระบบการเปิดเผยข้อมูลโลกเพื่อการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแก่ภาครัฐและเอกชน และห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลือง กำหนดแผนงานในรายละเอียดเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการทำลายป่าให้เป็นศูนย์ 


สิ่งนี้กำลังส่งสัญญาณว่า ถั่วเหลืองในจีนกำลังจะหลุดพ้นจากการเป็น “สินค้าโภคภัณฑ์” มองออกไปในอนาคต นักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่ที่ไปเยือนหัวเมืองใหญ่ในแถบอีสานจีนอย่างฮาร์บินและฉางชุน ก็อาจควักกระเป๋าตังค์เพื่อซื้อหาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วเหลือง ที่มีคุณภาพสูงเหล่านี้เป็นของฝากญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงกัน

                                  เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (3)                                   


จีนยังขยายแนวคิดของการพัฒนาคุณภาพสูงอย่างยั่งยืนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการลดการทำลายป่าและการสูญเสียที่อยู่อาศัย โดยในปีที่ผ่านมา คอฟโคอินเตอร์เนชันแนล (COFCO International) เครือข่ายของกลุ่มคอฟโค ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสินค้าเกษตรรายใหญ่ของจีน ได้กำหนดพันธะสัญญากับเครือข่ายในระบบการสืบค้นย้อนหลังในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่สุดของจีนในปัจจุบัน และมุ่งหวังให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2023


เมื่อพิจารณาจากความอุปสงค์และอุปทานถั่วเหลืองภายในประเทศแล้ว จีนยังคงต้องพึ่งพาถั่วเหลืองนำเข้าอีกนาน แต่มีแนวโน้มว่าจีนอาจกำหนด “มาตรฐานนำเข้า” ใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อรักษาตลาดถั่วเหลืองคุณภาพสูงให้กับผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งอาจช่วยลดการนำเข้าถั่วเหลืองได้บางส่วนในในอนาคต


จากกรณีศึกษาของถั่วเหลือง จีนเดินหน้าสารพัดนโยบายและมาตรการเพื่อหวังเพิ่มผลผลิตอย่างจริงจัง ที่ผมชอบมากก็คือ การเปลี่ยน “เกมส์รับ” เป็น “เกมส์รุก” อย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นคุณภาพและความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบูรณาการและใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถและศักยภาพขององค์กรภายในและต่างประเทศ 


แต่การพึ่งพาตนเองแบบสมบูรณ์ยังเป็น “หนทางที่ยาวไกล” สำหรับจีน คราวหน้าผมจะพาไปเจาะลึกในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารของจีนกันครับ ... (อ่านต่อตอนหน้า) 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน