เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (2)

21 ธ.ค. 2565 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2565 | 11:41 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรฐกิจ ฉบับ 3846 หน้า 4


ผมหายหน้าหายตาไปหนึ่งสัปดาห์เพราะมัวแต่ไปพักฟื้นไข้จากโควิด ... วันนี้ ผมจะชวนไปคุยกันต่อว่า จีนประเมินสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหารไว้อย่างไร และจีนกำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการ/โครงการอะไรบ้างเพื่อยกระดับของความมั่นคงด้านอาหารของจีนให้สูงขึ้น …


ประเด็นแรกที่ผมอยากหยิบยกมาพูดคุยกันก็คือ จีนมีความมั่นคงด้านอาหารดีมากน้อยขนาดไหน? มีระดับการพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศดีเพียงใด? จากข้อมูลพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีระดับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นโดยลำดับ!!!

 

สถานการณ์ที่เป็นอยู่แตกต่างจากที่จีนคาดหวังไว้มาก ด้วยจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล ทำให้มีอุปสงค์ในสินค้าเกษตรและอาหารสูงเป็นเงาตามตัว และถั่วเหลืองและพืชน้ำมันนับเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราจะใช้ในการพูดคุยเชิงลึกกัน 


ถั่วเหลืองถือเป็นสินค้าเกษตรที่ซื้อขายกันในตลาดโลกมาก และกระจุกตัวที่สุด ในเชิงมูลค่า ถั่วเหลืองมีสัดส่วนกว่า 10% ของโลกการค้าสินค้าเกษตรโดยรวม โดยมีบราซิลเป็นแชมป์ผู้ผลิต ตามด้วยสหรัฐฯ อาร์เจนตินา และ จีน แต่เพียงแค่ผู้ผลิตรายใหญ่ 2 อันดับแรกก็มีผลผลิตรวมคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของอุปทานโลกเข้าให้แล้ว


ขณะเดียวกัน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการถั่วเหลืองในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้บราซิลและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก เร่งเพิ่มผลผลิตกว่า 30% เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มพูนของความต้องการโลก โดยมีจีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของโลก


จีนใช้เกือบ 85% ของปริมาณถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศและนำเข้าทั้งหมดเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ขณะเดียวกัน จีนก็แปรรูปถั่วเหลืองเพื่อผลิตเป็นอาหารมนุษย์ อาทิ น้ำมันพืช เต้าฮู้ ซอสถั่วเหลือง น้ำเต้าฮู้ และอื่นๆ


การขาดแคลนถั่วเหลืองจึงอาจส่งผลกระทบต่อไปยังความสามารถในการผลิตเนื้อไก่และเนื้อหมู รวมทั้งสินค้าอาหารท้องถิ่นอื่น และยังอาจทำให้ราคาขายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง 


ปัจจุบัน จีนผลิตถั่วเหลืองปีละเกือบ 20 ล้านตัน แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้โดยรวม จีนต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศเฉียด 100 ล้านตันในแต่ละปี คิดเป็นมากกว่า 80% ของปริมาณความต้องการใช้โดยรวม การพึ่งพาการนำเข้าในระดับที่สูงดังกล่าว สะท้อนถึงความไม่มั่นคงทางอาหารของจีน แล้วทำไมจีนจึงต้องพึ่งพาถั่วเหลืองนำเข้ามากมายขนาดนี้?


เหตุผลสำคัญก็อาจเป็นเพราะนับแต่ปี 2017 พื้นที่การเพาะปลูกถั่วเหลืองมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอีสานจีน ทำให้การผลิตถั่วเหลืองและพืชน้ำมันของจีนลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีหลังนี้

                                  เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (2)

นอกจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำกว่าของบราซิล และ สหรัฐฯ แล้ว ราคาข้าวโพดที่ค่อนข้างดี และการอุดหนุนของภาครัฐ ยังทำให้เกษตรกรจีนสามารถสร้างรายได้จากการเพาะปลูกข้าวโพดได้ดีกว่าถั่วเหลือง ซึ่งลดความน่าสนใจในการเพาะปลูกถั่วเหลือง


ทั้งนี้ เฉพาะในปี 2021 พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองของจีนลดลงรวมถึง 9.2 ล้านไร่ ขนาดพอๆ กับจังหวัดนครศรีธรรมราชและกระบี่รวมกันเลยทีเดียว ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเหลืองของจีนลดลงถึง 16.4% เมื่อเทียบกับของปีก่อน 


ทำไมจีนจึงเลือกพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ? ในอดีตเหตุผลก็อาจเป็นเพราะปัจจัยราคา และความสามารถในการผลิต รวมทั้งการลดการเกินดุลการค้าของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ไปในตัว

 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีก่อน การพึ่งพามีระดับที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2000 เป็นถึง 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของการส่งออกถั่วเหลืองโดยรวมของสหรัฐฯ เลยทีเดียว 


อย่างไรก็ดี ภายหลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลส์ ทรัมป์ เริ่มเปิดศึก “สงครามการค้า” กับจีน โดย “ถั่วหลือง” ถือเป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่ใช้ในการต่อสู้กัน มิติด้าน “เศรษฐกิจและการค้า” ของถั่วเหลืองก็แปรเปลี่ยนเป็นประเด็นเชิง “ภูมิรัฐศาสตร์” ในทันที 


จีนไม่อยากตกเป็น “เบี้ยล่าง” ของสหรัฐฯ จึงหันไปพึ่งพาแหล่งนำเข้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิล หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม BRICs ซึ่งกลายเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่สุดของจีนในเวลาต่อมา การเล่นเอาล่อเอาเทิดในการเจรจาซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำเอาเกษตรกรสหรัฐฯ สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลในแต่ละปี


มูลค่าการค้าถั่วเหลืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ลดฮวบลง และขาดเสถียรภาพในระยะหลัง โดยในปี 2018 จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขึ้นลงตามสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างกันมากกว่าปัจจัยอุปสงค์และอุปทานดังเช่นในอดีต (อ่านต่อตอนหน้า) 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน