โป๊ปฟรานซิสประทานพรวันคริสต์มาส ขอสันติสุขคืนสู่ยูเครน

25 ธ.ค. 2565 | 23:06 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2565 | 07:08 น.

พระสันตะปาปาฟรานซิส เทศนาต่อคริสตศาสนิกชนจากวิหารเซนต์ปีเตอร์ส สำนักวาติกัน เนื่องในวันคริสต์มาส โดยตรัสเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งในสงครามยูเครน

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ “โป๊ปฟรานซิสประมุขแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตรัสประทานพรต่อคริสตศาสนิกชนจากวิหารเซนต์ปีเตอร์ส สำนักวาติกัน เมื่อวันอาทิตย์ (25 ธ.ค.) ซึ่งเป็น วันคริสต์มาส ว่า "ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราร่วมใจอย่างแข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเจ็บปวด และทรงสร้างความสว่างในจิตใจของผู้มีอำนาจในการกลบเสียงดังสนั่นของอาวุธต่าง ๆ และยุติสงครามที่ไร้เหตุผลนี้ในทันที"

 

“โป๊ปฟรานซิส” ตรัสถึงสภาวะสงครามในยูเครน โดยทรงเตือนว่า สงครามที่กินเวลานานถึง 10 เดือนแล้วนี้กำลังทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารทั่วโลก และทรงขอให้ยุติการใช้ "อาหารเป็นอาวุธ"

 

โป๊ปฟรานซิสประทานพรวันคริสต์มาสปีนี้ ขอความสงบสุขจงบังเกิดแก่ยูเครน (ขอบคุณภาพจาก Vaticannews)

 

พระสันตะปาปายังทรงขอให้ทั่วโลกจดจำเด็ก ๆ ผู้หิวโหยในทุกวันนี้เพราะอาหารถูกทิ้งขว้างและทรัพยากรต่าง ๆ ถูกทุ่มไปในการทำสงคราม ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสงครามยูเครนที่ทำให้มีผู้อดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในอัฟกานิสถานและทางภาคตะวันออกของแอฟริกาที่กำลังเผชิญภัยแล้ง

 

พระองค์ทรงระบุชื่อหลายประเทศที่กำลังเผชิญความยากลำบากในเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ ทั้งจากสงครามและความขัดแย้งต่าง ๆ เช่น อัฟกานิสถาน เยเมน ซีเรีย เมียนมา เลบานอน และเฮติ

 

คริสตศาสนิกชนส่วนหนึ่งที่ไปฟังเทศนาของโป๊ปฟรานซิสที่นครวาติกัน นำธงชาติยูเครนไปร่วมเรียกร้องสันติภาพด้วย

 

นอกจากนี้ ยังทรงตรัสเป็นครั้งแรกให้หาทางเข้าสู่กระบวนการปรองดองในอิหร่าน ที่ซึ่งกำลังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

 

คำเทศนาประจำเทศกาลคริสต์มาสที่รู้จักกันในชื่อ "Urbi et Orbi" ในภาษาละติน ที่แปลว่า "ถึงเมืองนี้และโลกทั้งใบ" แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ด้วย รวมทั้งสงครามในยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและแอฟริกา ความทุกข์ยากทั่วทวีปอเมริกา ตลอดจนความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันของนานาประเทศเพื่อข้ามผ่านปัญหาเหล่านี้

 

โป๊ปฟรานซิสขอให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกลุ่มประชากรที่เปราะบาง คนป่วย คนตกงาน หรือคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ภายในบ้าน โดยทรงตรัสว่า ภายใต้ช่วงเวลาวิกฤติข้ามพรมแดนเช่นนี้ เราไม่ควรสร้างกำแพงขึ้นอีก เพราะทุกคนต่างลงเรือลำเดียวกัน