ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคาร (27 ธ.ค.) ห้ามการจัดส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ให้แก่ชาติที่เข้าร่วมในการ กำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซีย
คำสั่งในกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 ถึงวันที่ 1 ก.ค.2566 โดยรัสเซียจะห้ามส่งออกน้ำมันดิบต่อบรรดาประเทศดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันจะมีการกำหนดเวลาหลังจากนั้น
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่ได้บรรลุข้อตกลงในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไว้ที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันที่จะนำไปใช้สนับสนุนการทำสงครามในยูเครนนั้น ได้แก่
การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวถือเป็น “มาตรการลงโทษ” ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้
ภายใต้มาตการลงโทษรัสเซียด้วยการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน ส่งผลให้สถาบันการเงิน บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ ไม่สามารถให้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้
และนั่นเป็นที่มาของการแสดงท่าทีตอบโต้อย่างแข็งกร้าวล่าสุดของปธน.ปูติน
การกดราคาน้ำมัน อาจทำให้รัสเซียขาดดุลเพิ่มในปี 66
นายแอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังของรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียอาจขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่วางแผนไว้ที่ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 เนื่องจากการจำกัดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง นับเป็นปัญหาทางการคลังพิเศษของรัสเซียหลังใช้เงินไปอย่างมากในการทำสงครามในยูเครน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียระบุว่า การจำกัดเพดานราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันมันดิบและน้ำมันกลั่นของรัสเซียอาจทำให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลง 5-7% ในต้นปีหน้า (2566) อย่างไรก็ตาม เขาให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามภาระผูกพันในการใช้จ่าย โดยจะใช้เงินจากการกู้ยืมและกองทุนสะสมฉุกเฉินตามความจำเป็น
นายซิลูอานอฟระบุว่า อาจมีการปรับลดปริมาณการส่งออกพลังงาน เนื่องจากบางประเทศกีดกันรัสเซีย และรัสเซียพยายามมองหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะกำหนดผลตอบแทนการส่งออกของรัสเซีย
หากปริมาณส่งออกลดลง รัสเซียจะมีเงินทุนเพิ่มเติมจาก 2 แหล่ง ได้แก่ การกู้ยืมเงิน และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (NWF) ซึ่งสะสมเงินสำรองของรัฐไว้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียกู้ยืมเงินจำนวนมากในไตรมาสปัจจุบันหลังขาดแคลนเงินทุนมาเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากการตัดสินใจส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายเข้ารุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน รัสเซียคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้านรูเบิล (29,240 ล้านดอลลาร์) จาก NWF ในปี 2565 เนื่องจากการใช้จ่ายทั้งหมดเกิน 30 ล้านล้านรูเบิล ซึ่งมากกว่าแผนเบื้องต้นของปีนี้แล้ว