สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานวันนี้ (9 ม.ค.) ระบุ มี กลุ่มผู้ประท้วง จำนวนมากนับพันคนที่เป็น ผู้สนับสนุนนายจาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีบราซิล ได้ บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ทำเนียบประธานาธิบดี และศาลสูงสุด โดยภาพข่าวเผยให้เห็นด้านในของทำเนียบประธานาธิบดี ที่มีผู้ประท้วงกระจายตัวไปทั่วอาคาร พร้อมชูธงชาติบราซิล ขณะที่บางคนถ่ายภาพเซลฟี บางส่วนจับกลุ่มกันเฝ้ามองเหตุการณ์ด้านนอก ดูคล้ายๆกับการบุกอาคารรัฐสภาของสหรัฐโดยกลุ่มผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตปธน.สหรัฐในปี 2564 และการบุกยึดทำเนียบปธน.ศรีลังกาเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
สื่อท้องถิ่นของบราซิลประเมินว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ประท้วงประมาณ 3,000 คน สถานการณ์แทบจะกลายเป็นจลาจลเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงบราซิลเลีย เมืองหลวงของบราซิล หวังสกัดผู้ประท้วงไม่ให้บุกเข้าไปในตัวอาคาร แต่ก็ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดเหตุ นายลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา วัย 77 ปี ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนต.ค.ปีที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง โดยเขาไปลงพื้นที่ในนครเซาเปาโล เพื่อสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 สื่อท้องถิ่นระบุว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุการณ์บุกยึดทำเนียบและรัฐสภาโดยกลุ่มผู้ประท้วง นายลูลา ดา ซิลวา ได้ประกาศว่าผู้ประท้วงที่บุกเข้าไปในสถานที่ราชการและทำลายทรัพย์สินของราชการ จะต้องถูกติดตามตัวเพื่อนำตัวมารับโทษ
สาเหตุการประท้วง
สาเหตุของเหตุการณ์ความวุ่นวายในครั้งนี้ เกิดจากความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุนนายโบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2565 โดยเขาได้คะแนนเสียง 49.1% ทำให้ต้องพ่ายแพ้แบบเฉียดฉิวให้กับนาย ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา วัย 77 ปี ที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 50.9% นับว่าห่างกันไม่ถึง 2%
ทำให้นายลูลา ดา ซิลวา ซึ่งเป็นเคยเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว ( ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2546 – 31 ธันวาคม 2553) ได้กลับขึ้นครองอำนาจอีกครั้งในฐานะประธานาธิบดีบราซิลคนที่ 39 โดยเขารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 แต่กลุ่มผู้สนับสนุนนายโบลโซนาโรที่พ่ายการเลือกตั้ง ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและได้จัดการชุมนุมประท้วงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ให้เหตุผลหลักๆว่า มีการโกงเลือกตั้ง และพวกเขาเรียกร้องให้ทบทวนผลการนับคะแนน
ร้องหารัฐประหาร-ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้กองทัพบราซิลกระทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากผู้นำคนใหม่ และให้ผู้นำคนเก่าคือนายโบลซานาโร กลับมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีต่อไป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ผู้นำหลายประเทศออกมาแสดงท่าทีปกป้องประชาธิปไตยในบราซิล โดยนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ทวีตข้อความประณามการบุกสถานที่ราชการของผู้ประท้วงในบราซิล และเรียกร้องให้พวกเขาเคารพต่อความต้องการของประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งและสถาบันแห่งประชาธิปไตย
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประณามการประท้วงว่า เป็นการ "ทำร้ายประชาธิปไตย"
"ผมขอประณามการทำร้ายประชาธิปไตยและการทำร้ายกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติในบราซิล ผมสนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยของบราซิลอย่างเต็มที่ และเจตจำนงของประชาชนชาวบราซิลจะต้องไม่ถูกลิดรอน" ปธน.ไบเดนระบุในทวิตเตอร์ ก่อนหน้านี้ ปธน.ไบเดนเรียกสถานการณ์ในบราซิลว่าเป็นเรื่อง "อุกอาจ" ซึ่งคล้ายกับกรณีการบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 2 ปีก่อน