สงครามยูเครน กับ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” หายนะที่ขยับเร็วขึ้น

25 ม.ค. 2566 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 02:27 น.

สงครามสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีอุณหภูมิดุเดือด ดันให้เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลก หรือ Doomsday Clock ขยับมาที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน หมายถึงคาดการณ์เกี่ยวกับหายนะที่เปรียบได้กับ “วันสิ้นโลก” กำลังขยับใกล้เข้ามา

ภัยคุกคามจาก สงครามนิวเคลียร์ รวมทั้งผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนผิดธรรมชาติ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตอนนี้โลกเหลือเวลาเพียง 90 วินาทีที่เข็มบนหน้าปัดของ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” หรือ Doomsday Clock จะเดินถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเวลาดังกล่าวเป็นการ “เปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์” ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Bulletin of the Atomic Scientists ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา และเป็นองค์กรที่จัดทำนาฬิกาวันสิ้นโลก ได้ประกาศขยับเข็มนาฬิกาในปีค.ศ. 2023 นี้เมื่อวันอังคาร (24 ม.ค.) โดยขยับลดลงไป 10 วินาที เหลือเพียง 90 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืน ซึ่งถือเป็นเวลาที่สั้นที่สุดในรอบ 3 ปี โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกยังอยู่ที่ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน

เวลาที่ลดลงไปนั้น สะท้อนถึงสถานการณ์โลกที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้นจากการที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน และยังได้สร้างความหวาดกลัวถึงสงครามนิวเคลียร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางเรเชล บรอนสัน ประธานคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของ Bulletin of the Atomic Scientists ให้คำอธิบายว่า ภัยคุกคามเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซียที่ปกคลุมโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นเครื่องเตือนถึง "การยกระดับความขัดแย้ง" ทั้งอย่างไม่ตั้งใจและอย่างตั้งใจ ทั้งยังเตือนถึงการคำนวณที่ผิดพลาดที่เป็นความเสี่ยงอันร้ายแรง และความเป็นไปได้ที่ยังอยู่ในระดับสูงว่า ความขัดแย้งอาจยกระดับจนยากเกินการควบคุม

เวลาแห่งหายนะโลกกำลังขยับใกล้เข้ามา

มาทำความรู้จัก “นาฬิกาวันสิ้นโลก” กันหน่อย

นาฬิกาวันสิ้นโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานจดหมายข่าวฯ ในมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) หรือราว 76 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พวกเขาตั้งเข็มนาฬิกาไว้ที่เวลา 7 นาทีก่อนเที่ยงคืน เพื่อเตือนถึงความเสี่ยงที่มนุษยชาติอาจถูกทำลายจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

ปัจจุบัน  นาฬิกาวันสิ้นโลกอยู่ในความดูแลของสมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของสำนักจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Bulletin of the Atomic Scientists)

ด้วยแนวคิดที่ว่า จะดีแค่ไหนถ้าเรารู้จุดสิ้นสุดของโลก จะดีแค่ไหนถ้ามีอะไรสักอย่างคอยบ่งบอกว่า เมื่อไหร่ที่มนุษยชาติกำลังจะถึงจุดสิ้นสุดเผ่าพันธุ์ สิ่งย้ำเตือนถึงหายนะที่มาจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเหล่านี้ อาจจะทำให้เราเรียนรู้ที่จะแก้ไขและป้องกัน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกกันทุกปี โดยนำข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงต่อโลกและมวลมนุษยชาติในแต่ละปีมาคำนวณเพื่อปรับเข็มนาฬิกา

ในช่วงแรก นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนบ่งบอกความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์ แต่ปัจจุบัน ปัจจัยความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณหายนะของมนุษยชาติ ประกอบด้วยวิกฤตและมหันตภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยสงคราม ภัยนิวเคลียร์ ภัยธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) ภัยจากเทคโนโลยี หรือแม้แต่การเผชิญหน้าและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่สั่นคลอนโลกและมนุษย์

ดังนั้น นาฬิกาวันสิ้นโลก จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์เชิงสัญลักษณ์ที่จะคอยย้ำเตือนถึงมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้น เป็นมาตรวัดเพื่อบ่งบอกว่า มนุษย์กำลังเข้าใกล้หายนะระดับวันสิ้นโลก (Global Catastrophe) ที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์มากน้อยขนาดไหน

 

การปรับเข็มนาฬิกากับสัญญาณที่บ่งบอก

นาฬิกาดังกล่าวมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่เวลา 00.00 น. หรือเที่ยงคืน ที่นับว่าเป็น “จุดหายนะ” โดยจะมีคณะกรรมการคอยพิจารณาและขยับเข็มนาฬิกา เมื่อเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น เช่น มีสงครามความขัดแย้ง หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เข็มนาฬิกาจะขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้น แต่ถ้าหากสถานการณ์คลี่คลายลง เข็มนาฬิกา ก็จะขยับออกห่างจากเที่ยงคืน และหากเมื่อใดก็ตามที่เข็มนาฬิกาชี้ไปที่เวลา “เที่ยงคืน” นั่นเท่ากับว่าวันโลกาวินาศได้มาถึงแล้ว

 

โลกต้องเร่งยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีความเสี่ยงจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์

เวลาสู่หายนะเดินเร็วขึ้น และเวลาของโลกก็หดลดลง

ในอดีตเคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกขยับครั้งสำคัญอยู่หลายครั้ง แต่ก็เป็นที่สังเกตว่า เข็มเข้าใกล้เที่ยงคืนในระดับ “นาที” ไม่ใช่ระดับ “วินาที” เช่นในปัจจุบัน

  • ยกตัวอย่าง ปี 1947 หรือปีแรกของ Doomsday Clock เข็มนาฬิกาถูกตั้งไว้ที่ 23:53 น. หรือ 7 นาทีก่อนถึงเที่ยงคืน เนื่องจากในยุคนั้น โลกอ่วมหนักด้วยบาดแผลจากสงคราม บางประเทศถือโอกาสนี้ เริ่มทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และพยายามหามาไว้ในครอบครองเพื่อที่ประเทศของตนจะได้เป็นผู้นำของโลก เพราะช่วงนั้น “อาวุธนิวเคลียร์” คือเครื่องหมายของการมีอำนาจ
  • ปี 1949 นาฬิกาถูกปรับเป็นเวลา 23:57 น. หรือ อีก 3 นาทีจะถึงเที่ยงคืน เพราะสหภาพโซเวียต “ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก” และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
  • ปี 1953 เข็มเคลื่อนไปยังเวลา 23:58 น. หรืออีก 2 นาทีจะถึงเที่ยงคืน ถือเป็นช่วงเวลาที่ใกล้วันโลกาวินาศมากที่สุดในยุคสงครามเย็น เพราะช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างทดลองอุปกรณ์เทอร์โมนิวเคลียร์ ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน บ่งบอกความพร้อมที่จะทำสงคราม
  • ปี 1991 นาฬิกาถูกถอยกลับมาเป็นเวลา 23:43 น. หรืออีก 17 นาทีจะถึงเที่ยงคืน นับเป็นช่วงเวลาที่เข็มนาฬิกาอยู่ห่างจากเที่ยงคืน หรืออยู่ห่างจากวันสิ้นโลกมากที่สุด จากการที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและสงครามเย็นถึงจุดสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม มาถึงยุคปัจจุบันเมื่อโลกถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สงคราม หรือความล้มเหลวในการจัดการภาวะโลกร้อน เข็มของนาฬิกา Doomsday Clock ขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนในระดับ “วินาที” โดยในปีที่ผ่านมา (2565) เข็มนาฬิกาถูกตั้งไว้ที่ 23:58 น. กับอีก 20 วินาที ซึ่งแปลว่า โลกเหลือ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืนเท่านั้น

และมาในวันนี้ เข็มนาฬิกาอยู่ที่อีก 90 วินาทีจะเที่ยงคืน หมายความว่า เวลาแห่งหายนะโลกนั้นขยับเร็วขึ้นและใกล้เข้ามาทุกที