คนไทยต่างได้ชื่นชมทั้งความน่ารัก และความสามารถ ของสุนัขกู้ภัย K9 “เซียร่า”อายุ 7 ปี และ “ซาฮาร่า” อายุ 6 ปี สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทริฟเวอร์ (Golden Retriever) เพศเมีย ที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกับทีม USAR Thailand ทั้ง 42 นาย ในการค้นหาผู้รอดชีวิต จากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา
ช่วงแรกของการปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตนั้น ทั้งเซียร่า และ ซาฮาร่า ปฏิบัติภารกิจโดยไม่ได้สวมรองเท้านิรภัยเนื่องจาก ผู้ดูแลคำนึงถึงความสามารถในการทรงตัว และการปีนป่ายของสุนัข รวมถึงความสามารถรับทราบถึงความเสถียรมั่นคงของพื้นผิวจากการสัมผัส
แต่เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจบริเวณซากตึกพังถล่มที่มีการรื้นถอนใหม่ และเต็มไปด้วยเศษกระเบื้อง เศษเหล็ก กระจายเป็นแนวราบ ไม่มีพื้นที่ต้องป่ายปีนที่สูง ผู้บังคับ K9 จึงตัดสินใจใส่รองเท้านิรภัยคู่หน้าให้กับซาฮาร่า แต่ไม่สวมรองเท้าที่เท้าหลัง เพื่อการทำหน้าที่ค้ำยันและส่งตัวเมื่อกระโดดได้อย่างเต็มที่
กว่าจะมาเป็น สุนัขกู้ภัย K9
การมาเป็นสุนัขกู้ภัย K9 นั้น ต้องมีกระบวนการตั้งแต่คัดเลือกสายพันธุ์ของสุนัข อุปนิสัย การฝึกฝน และการสอบเพื่อคัดเลือก เพื่อให้ได้เป็น Search and Rescue Dog
การคัดเลือก
ต้องคัดเลือกลูกสุนัข ที่มีพันธุกรรม สายพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น เยอรมันเชพเพิร์ด มีความคล่องแคล่วปราดเปรียว ,โกลเด้น รีทริฟเวอร์ และ ลาบราดอร์ รีทริฟเวอร์ มีความนุ่มนวล ความละเอียดในการค้นหา การคิดวิเคราะห์อย่างใจเย็น โดยการเป็น Search and Rescue Dog จะต้องมีอุปนิสัยชอบค้นหา และสนุกในการช่วยเหลือมนุษย์
8 ประเภท ของสุนัขกู้ภัย
การฝึกฝน
สุนัขกู้ภัย K9 จะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะตามประเภทของภารกิจ และต้องฝึกการส่งสัญญาน เช่นหากพบร่างผู้เสียชีวิต สุนัขอาจส่งสัญญาณด้วยการหมอบ แต่หากเป็นผู้รอดชีวิต สุนัขอาจส่งสัญญาณด้วยการเห่า
ฝึกการเผชิญกับสิ่งแวดล้อม ที่อาจทำให้สุนัขตื่นตกใจ เช่น เสียงปืน เสียงระเบิดเสียงพลุ หรือมีสัตว์ชนิดอื่น หรือสุนัขตัวอื่นรวมอยู่ด้วย รวมทั้งฝึกการใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่บีบคั้นต่อเนื่อง เช่น อากาศร้อน อากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การอดนอน ตี 3-4 หรือการขับถ่าย เช่นเดียวกับขณะปฏิบัติภารกิจจริง
เซียร่า และ ซาฮาร่า นอกจากผ่านการฝึกเหล่านี้มาแล้ว ยังได้เคยร่วมในการฝึกในคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) หรือการฝึกร่วมผสมทางการทหาร อีกด้วย
การสอบรับรองเป็น สุนัขกู้ภัย K9
หลักจากผ่านการฝึกฝนแล้ว สุนัขจะต้องผ่านการทดสอบโดย IRO (International Rescue Dog Organisation) หรือองค์การสุนัขกู้ภัยโลก ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากมาก กว่าจะมาเป็นสุนัขกู้ภัย K9