ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่ส่งสุนัขกู้ภัย ร่วมภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยในตุรกี โดยเจ้าตูบ 4 ขาผู้รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ในฐานะตัวแทนประเทศไทย คือ “เซียรา-ซาฮารา” สุนัขพันธุ์โกลเดน รีทริฟเวอร์ เพศเมีย จากหน่วย K9 ที่ค้นหาร่วมกับส่วนหน้า USAR Thailand พวกมันเริ่มปฏิบัติการค้นหาตั้งแต่ 10 กพ.ที่ผ่านมา มีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจ 10 วัน
ทั้งเซียรา และซาฮารา ได้รับการฝึกมาตรฐานจากองค์การสุนัขกู้ภัยโลก กว่า 3 ปี เป็นสุนัขกู้ภัยแห่งชาติกลุ่มเดียวที่มีอยู่ในไทย ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานหลากหลาย และร่วมงานกับมูลนิธิกระจกเงาเพื่อช่วยตามหาคนหายมาแล้ว ถือว่าประวัติไม่ธรรมดา
การฝึกสุนัขเพื่อใช้งานในอดีต จนถึงปัจจุบัน
หลายศตวรรษ มนุษย์ใช้ความพิเศษทางกายภาพของพวกมัน เป็นเครื่องมือจัดการกับผู้ต้องสงสัย ตรวจจับยาเสพติด ระเบิด และเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆเช่น การลาดตระเวน กู้ภัย ค้นหาสิ่งต่างๆ สุนัขเหล่านี้ จึงมีหน้าที่เป็น “สุนัขกู้ภัย” ได้ด้วย
ความพิเศษของสุนัขที่เหนือกว่ามนุษย์
ในอดีต มนุษย์เริ่มฝึกสุนัขสายพันธุ์ย่อยของหมาป่า เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ตั้งแต่การล่าสัตว์และการใช้ทำงาน ไปจนถึงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ทุกวันนี้มนุษย์เลี้ยงสุนัขหลายร้อยสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีจุดประสงค์หรือหน้าที่เฉพาะตัว
ในยุคแรกๆ ของการเลี้ยงสุนัข ชาวโรมันใช้สุนัขเพื่อรักษาความปลอดภัยและล่าสัตว์ พวกเขายังใช้สุนัขเพื่อช่วยรบในสงครามเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งกลิ่น สอดแนม ลาดตระเวน และส่งสาร
จุดเริ่มต้นของ “สุนัขตำรวจ (K9)” สู่ภารกิจสำคัญ
เป็นเวลากว่า 100 ปีที่ องค์กรทั่วโลกใช้ทักษะและความว่องไวของสุนัขผ่านหน่วย K9 ของตำรวจ ซึ่งคำว่า K9 มาจากคำว่า Canine แปลว่าสุนัข ทักษะสุนัขทหารที่ใช้กันในสมัยก่อนนั้นมีความคล้ายคลึงกับทักษะสุนัขที่ฝึกกันในปัจจุบัน ตั้งแต่การตรวจจับระเบิดไปจนถึงการลาดตระเวน
ปี 1899 : การใช้สุนัขตำรวจครั้งแรกโดยชาวอังกฤษ ซึ่งใช้ทักษะดมกลิ่นของสุนัขล่าเนื้อเพื่อค้นหาแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตรกรต่อเนื่องรายแรกของโลกที่สังหาร หญิงโสเภณีอย่างน้อย 5 ราย ในย่านอีสต์เอ็นด์ของกรุงลอนดอน ช่วงปี ค.ศ. 1888
ปี 1910 : เยอรมนีจัดตั้งหน่วย K9 ประจำในเมืองใหญ่กว่า 600 แห่ง
ปี 1938 : สุนัขสายพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 2 ตัวได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษให้เข้าร่วมกองกำลังตำรวจนครบาลทางใต้ของลอนดอนครั้งแรก
ช่วงทศวรรษที่ 1970 : สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้หน่วย K9 เพื่อปฏิบัติภารกิจและบังคับใช้กฎหมาย
ในปัจจุบัน สุนัขตำรวจทั่วโลกถูกฝึกเพื่อทำภารกิจเสี่ยงภัยต่างๆ เคียงบ่าเคียงไหล่เจ้าหน้าที่ ทั้งค้นหาระเบิด ยาเสพติด การสะกดรอย กู้ภัย และอารักขา และค้นหาสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย
สายพันธุ์สุนัขที่มักนิยมนำมาใช้งานตำรวจ
1.เยอรมันเชพเพิร์ด - ฉลาด ฝึกง่าย เรียนรู้ไว เชื่อฟังเจ้านาย ตอบสนองไว และไม่ตื่นตกใจง่ายเวลาที่เกิดเสียงดัง
2.ลาบราดอร์ - ฉลาด จมูกที่ดีเยี่ยม จึงนิยมนำมาใช้ในงานสะกดรอย ค้นหาวัตถุระเบิดยาเสพติด ผู้ประสบภัย
3.ร็อตไวเลอร์ - กระตือรือร้นสูง และเชื่อฟังคำสั่งเจ้านายสูงมาก นิยมนำมาใช้ในด้านอารักขา ดูแลความปลอดภัย และเฝ้ายาม
4.เบลเจียน มาลีนอยส์ - ฉลาด คล่องตัว นิยมนำมาใช้ในงานภาคสนาม เนื่องจากมีขนาดตัวไม่ใหญ่นักติดตามไปทำภารกิจได้ เคลื่อนย้ายสะดวก
5.บีเกิล - มีความสามารถในการดมกลิ่นและสะกดรอยสูงมาก นิยมนำมาใช้ค้นหาสิ่งผิดกฎหมาย ประจำตามสนามบินสำคัญๆ
ประเทศไทยกับการฝึกสุนัข K9
สุนัขตำรวจในประเทศไทยอยู่ภายใต้กองกองกำกับการสุนัขตำรวจ ซึ่งอยู่ภายใต้กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) ในสังกัดตำรวจกองบัญชาการนครบาล หน่วยนี้ มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า K9 เมื่อเข้าประจำการจะมีการติดยศด้วย
การคัดเลือกสุนัขเข้าร่วม K9 ไม่ใช่เรื่องง่าย สุนัขแต่ละตัวต้องผ่านการคัดกรอง และฝึกฝนเหมือนตำรวจที่เป็นคน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมออกสนาม
เมื่อได้รับการคัดเลือกมาแล้ว สุนัขทุกตัวจะเข้ารับการฝึกฟังคำสั่งเบื้องต้น ทั้ง นั่ง ชิด หมอบ คอย และการพัฒนาทักษะอีก 3 รอบ ทุก 15 วัน จากนั้นจะแยกไปฝึกตามความสามารถที่ถนัด เช่น พิสูจน์กลิ่นยาเสพติด ของกลางคดีอาญา ค้นหาวัตถุระเบิด สะกดรอย และการกู้ภัย ค้นหาผู้ประสบภัย ระยะเวลาการฝึกคือ อย่างน้อย 4 เดือน สุนัข K9 ก็พร้อมปฏิบัติภารกิจ
วิธีการส่งสัญญาณของสุนัขตำรวจ
สุนัขที่ผ่านการฝึกจาก K9 ในการปฎิบัติงานหากพบสิ่งใด จะมีการส่งสัญญาณต่างกัน ได้แก่
1.พบระเบิด สุนัขจะนั่งหรือหมอบนิ่ง ๆ ตรงจุดนั้นเพื่อให้ปลอดภัย
2.พบยาเสพติด k9 จะตะกุยค้นหาคาบยาเสพติดออกมา
3.พบผู้สูญหาย K9 ต้องเห่าเสียงดัง
4.สายงานอารักขา สะกดรอย จะส่งสัญญาณขนพอง ยืนนิ่ง หูตั้ง หางตั้ง
ภาพความประทับใจเมื่อสุนัขกู้ภัยจากทั่วโลกมาร่วมภารกิจค้นหาผู้สูญหายตามซากปรักหักพังในตุรกี จึง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาพประวัติศาตร์ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่มนุษย์จะช่วยเหลือกันเอง แต่สิ่งนี้ชีวิตอย่างสุนัขก็สามารถเป็นฮีโรในยามวิกฤตินี้ได้ เพราะยามลำบากทุกชีวิตล้วนสำคัญไม่ว่าคนหรือสัตว์
ภาพ : เฟสบุ๊ค กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย
ที่มา : https://customcanineunlimited.com/the-history-of-police-k9-dogs/