จำนวนผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว ใน ตุรกีและซีเรีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่มา ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานยอดผู้เสียชีวิตรวมจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวที่ 41,987 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในตุรกีจำนวน 36,187 ราย และซีเรียจำนวน 5,800 ราย
นอกจากนี้ นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินของ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นมากกว่า 56,000 ราย
ตัวเลขนี้ นับว่าสูงกว่าที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 ราย ขณะที่สภาพอากาศที่หนาวเย็นและยังมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกเป็นระลอกๆ นับเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารที่พังถล่มลงมา
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มญี่ปุ่นในปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นมียอดผู้เสียชีวิต 15,729 ราย
ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
“เจพีมอร์แกน” ออกรายงานวานนี้ (16 ก.พ.) ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ สร้างความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจตุรกีคิดเป็นสัดส่วนราว 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือราว 25,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8.6 แสนล้านบาท
ขณะที่การประเมินเบื้องต้นโดยด้านสมาพันธ์ธุรกิจและวิสาหกิจตุรกีระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวน่าจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 84,100 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2.8 ล้านล้านบาท
รายงานระบุว่า ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวจะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศราว 70,800 ล้านดอลลาร์ และจะส่งผลทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ราว 10,400 ล้านดอลลาร์ และสูญเสียวันทำงานคิดเป็นมูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ แผ่นดินไหวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อ 10 จังหวัดของตุรกี ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 13.4 ล้านคน คิดเป็น 15% ของทั้งประเทศ และมีตัวเลข GDP ของ 10 จังหวัดรวมกัน คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพีทั้งประเทศ
ยูเอ็นวอนนานาชาติลงขันช่วยเหลือกว่า 34,000 ล้านบาท
ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ตั้งวงเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์ เพื่อการบูรณะฟื้นฟูตุรกี-ซีเรียหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) ออกแถลงการณ์เรียกร้องนานาชาติระดมเงินจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 34,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรต่างๆให้ความช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือนแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีจำนวนกว่า 5 ล้านคน
"เราจะต้องยืนเคียงข้างพวกเขาในช่วงเวลามืดมิดที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่มีความจำเป็น" นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินขององค์การสหประชาชาติกล่าว
ด้านนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งประเทศตุรกีเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้เดินทางเยือนตุรกีวานนี้ (16 ก.พ.) เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อตุรกีหลังประสบเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เขากล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวนับเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดต่อประเทศสมาชิกนาโต นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งองค์กรขึ้นในปีพ.ศ. 2492
นายสโตลเทนเบิร์กยืนยันว่า ชาติสมาชิกนาโตได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวนหลายพันคนไปยังตุรกีตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพียง 1 วันหลังเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนี้ สมาชิกนาโตรายอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และนอร์เวย์ได้ส่งเครื่องบินรบเพื่อขนส่งความช่วยเหลือเข้าสู่ตุรกี ขณะที่เยอรมนี แคนาดา และอัลเบเนียให้ความช่วยเหลือทางการเงิน