“ฮ่องกง” พลิกวิกฤต ดึงดูดต่างชาติลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ

22 ก.พ. 2566 | 23:41 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2566 | 00:05 น.

“ฮ่องกง” เปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบพร้อมกับบรรยากาศธุรกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว "Invest Hong Kong" สร้างความมั่นใจว่า ถึงเวลาที่นักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งไทย ต้องกลับมาพิสูจน์ศักยภาพของฮ่องกงกันได้แล้ว

นายสตีเฟ่น ฟิลิปส์ อธิบดี สำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (Invest Hong Kong) เปิดเผยกับสื่อมวลชนระหว่างมาเยือนประเทศไทยในสัปดาห์นี้ว่า ขณะนี้ “ฮ่องกง” ได้เปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมๆกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังผ่านพ้นจากช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบในช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทาง Invest Hong Kong จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งไทย ได้เห็นถึงศักยภาพทางการค้าและการลงทุนของฮ่องกง ที่ยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

“ฮ่องกงเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลกที่ความได้เปรียบระดับโลกและความได้เปรียบของจีน มารวมอยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งการบรรจบกันที่ไม่เหมือนใครนี้ ทำให้ฮ่องกงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และส่วนอื่นๆ ของโลกที่ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ ฮ่องกงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับบริษัทในต่างประเทศและบริษัทในแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนผู้ประกอบการจากทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นที่ที่นักลงทุนจะได้ประโยชน์อย่างเต็มเปี่ยมจาก “เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” หรือที่เรียกว่าเขต Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเฟื่องฟู โดยเป็นเขตที่มีประชากรรวมกันถึง 86 ล้านคน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 11 ของโลกในปัจจุบัน และมีศักยภาพที่จะขยายตัวเป็นอันดับที่ 5-6 ของโลกภายในปี 2030”

สตีเฟ่น ฟิลิปส์ อธิบดี สำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (Invest Hong Kong)

เขากล่าวเสริมว่า ฮ่องกงเสนอโอกาสและเส้นทางสู่การเติบโตที่หลากหลายให้กับบริษัทไทย โดยมีหลากหลายเหตุผลว่า เพราะอะไรฮ่องกงถึงน่าสนใจ

  • ประการแรก คือ ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและการค้าที่มีความคึกคัก ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
  • ประการที่สอง ฮ่องกงตั้งอยู่ในโลเกชันที่ดีที่เรียกได้ว่าเป็น “หัวใจของเอเชีย” เป็นจุดศูนย์กลางที่อยู่ใกล้ตลาดที่สำคัญ ๆ อย่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยังสามารถเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังตลาดใหญ่ที่ห่างไกลอย่างสะดวกสบาย
  • ประการที่สาม ระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อหนุน สร้างความสะดวกง่ายดายให้แก่ผู้ประกอบการ ฮ่องกงนั้นได้ชื่อว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business มากที่สุด ติดอันดับ 5 ของโลก
  • ประการที่สี่ ฮ่องกงดำเนินการด้านการค้าและการลงทุนภายใต้ระบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ กฎหมายของฮ่องกงเป็น Common Law ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล เหมือนที่ใช้กันในสหราชอาณาจักร และแคนาดา ทำให้เข้าถึงได้ง่าย และนักลงทุนเองก็มีความคุ้นชิน เป็นกฎหมายที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มีความเชื่อมโยงได้กับจีนแผ่นใหญ่ ทำให้ฮ่องกงสามารถเป็นจุดก้าวกระโดดสู่ตลาดจีนได้

“การที่ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นจุดที่หากผู้ประกอบการธุรกิจของไทยต้องการเล็งตลาดใหญ่ ฮ่องกงจึงเป็นจุดที่ควรจะเข้าไป” สตีเฟ่นกล่าว

พื้นที่เขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (GBA)

ฮ่องกงฟื้นตัวได้ดีและยังคงขยายตัว

ทั้งนี้ ฮ่องกง ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองพลวัตที่มีความยืดหยุ่นและฟื้นตัวจากความท้าทายต่างๆ ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยจุดแข็งของตลาดที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเต็มไปด้วยศักยภาพอันโดดเด่น รวมไปถึงโอกาสใหม่มากมายสำหรับนักธุรกิจทั่วโลก ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น แรงงานทักษะสูง และนักท่องเที่ยว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และโอกาสจากยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA ส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับ “ธุรกิจค้าปลีก” ที่นักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจชาวไทยที่ต้องการขยายแบรนด์สินค้าสู่ตลาดนานาชาติควรเข้าไปตั้งสำนักงาน เพราะจากฮ่องกง ผู้ประกอบการสามารถก้าวกระโดดไปยังตลาดจีน และตลาดอื่นๆของโลกที่มีอุปสงค์สูง ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง อินเดีย หรืออาเซียน    

นอกจากนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ใจกลางเอเชียแปซิฟิก ยังส่งผลให้ฮ่องกงมีบทบาทสำคัญต่อผู้ประกอบการจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่และบริษัทข้ามชาติในเอเชียแปซิฟิก กล่าวโดยสรุป ฮ่องกงมีจุดแข็งด้านด้านระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ภาคธุรกิจค้าปลีก และภาคการท่องเที่ยวและบริการ

"ฮ่องกงยังคงเปิดโอกาสใหม่ๆสำหรับผู้ประกอบการไทย" สตีเฟ่น ฟิลิปส์  Invest Hong Kong

 เปิดโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย

  • ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ของฮ่องกงเพิ่มขึ้น 62% เป็น 9.26 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน
  • ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านการเงินชั้นนำของโลก และเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง เงินสกุลฮ่องกงดอลลาร์เป็นที่ยอมรับและสามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี และฮ่องกงเปิดอิสระในการเคลื่อนไหวเข้าออกของสินค้า ข้อมูล และเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารชั้นนำระดับ Top 100 ของโลกจำนวนมากถึง 77 แห่งตั้งสำนักงานปฏิบัติการอยู่ในฮ่องกง
  • ในปีพ.ศ. 2563 อาเซียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน มูลค่าการค้าระหว่างฮ่องกงและอาเซียนสูงถึง 4.648 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของฮ่องกง โดยระหว่างปีพ.ศ. 2559 – 2563 มูลค่าการค้าระหว่างฮ่องกงและอาเซียนเติบโตปีละ 6%
  • ฮ่องกงตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมระหว่างอาเซียนกับจีนและเอเชียตะวันออกไกล อีกทั้ง การเดินทางเครื่องบินไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน ใช้เวลาน้อยกว่า 5 ชั่วโมง
  • รัฐบาลฮ่องกงมีแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ในโครงการ Express Rail Link และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง รวมถึงเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อกับเอเชีย ยุโรป และทั่วโลก 
  • รัฐบาลฮ่องกงจัดทำโครงการสนับสนุนเงินลงทุนแก่ผู้ประกอบการมากกว่า 40 โครงการ บริษัทสามารถสมัครขอรับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำแบรนด์ดิ้ง การส่งเสริมการขาย การปรับปรุงบริการเชิงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขออนุญาตจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น

สตีเฟ่นส์กล่าวทิ้งท้ายว่า ฮ่องกงก็เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกือบๆ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกงกลับมาคึกคักและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีพ.ศ. 2564 ด้วยยอดขายรวมโตขึ้น 8.1% จากปีก่อนหน้า ขณะที่จำนวนครั้งและมูลค่าของการซื้อสินค้าผ่านบัตรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน       

ปัจจุบัน ฮ่องกงเปิดให้มีการเดินทางเข้าออกอย่างเสรี ยอดค้าปลีกในฮ่องกงยังมีมูลค่าสูงถึง 1.588 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 แม้ต้องเผชิญความท้าทายจาก โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้อย่างยอดเยี่ยมของตลาดค้าปลีกในฮ่องกงท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยธุรกิจที่สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ได้แก่ ค้าปลีก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ นาฬิกา และของขวัญล้ำค่าต่างๆ ซึ่งมียอดขายรวมกันกว่า 6.03 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ฮ่องกงมอบโอกาสทองให้กับผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการสร้างแบรนด์และขยายไลน์สินค้าเพิ่มภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า ตลาดค้าปลีกฮ่องกงมีศักยภาพที่โดดเด่นทั้งในระยะกลางจนถึงระยะยาว โดยมีความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น ระบบนิเวศทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และโอกาสจากยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจ GBA เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก    

เป็นจุดสตาร์ทที่ดีสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ

ธุรกิจในฮ่องกงได้รับประโยชน์จากระบบภาษีที่ขึ้นชื่อว่าเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเพื่อเป็นการสนับสนุนบริษัทและสตาร์ทอัพในช่วงการเติบโต ฮ่องกงจะคิดอัตราภาษีเพียง 8.25% เท่านั้น สำหรับผลกำไร 9 ล้านบาทแรก

สตีเฟ่นส์กล่าวในท้ายที่สุดว่า นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคแล้ว ฮ่องกงยังส่งเสริมการลงทุนด้านฟินเทค รวมทั้งธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ครอบคลุมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) และBig Data มีหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในด้านการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ผู้ประกอบการไทยมีจุดแข็งอย่างมาก จึงอยากจะเชิญชวนให้เข้ามาร่วมขยายการเติบโตในฮ่องกง