อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) บริษัทยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนประกาศ ปรับโครงสร้าง ครั้งสำคัญซึ่งข่าวระบุว่า เป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่สุดในรอบ 24 ปี โดยอาลีบาบาจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีฝ่ายบริหารของตนเอง และสามารถทำการระดมทุน รวมทั้งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างอิสระ
หุ้นของอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ซื้อขายในตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในวันนี้ (29 มี.ค.) โดยเป็นการพุ่งขึ้นชั่วข้ามคืนตามหุ้นในอเมริกา หลังจากที่ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซรายนี้ประกาศว่ามีแผนจะแยกธุรกิจออกเป็น 6 หน่วย โดยแต่ละหน่วยธุรกิจมีศักยภาพในการระดมทุนของตัวเอง และเข้าตลาดหุ้น
วันนี้ (29 มี.ค.) หุ้นอาลีบาบา (HK:9988) ราคาปรับสูงขึ้น 13.5% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนที่ 95.55 ดอลลาร์ฮ่องกง ในเวลาไม่นานหลังจากตลาดเปิดทำการ และถือเป็นวันที่ดีที่สุดในรอบ 11 เดือน นอกจากนี้ ยังทำให้ดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng)ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 2.2%
ขณะเดียวกัน หุ้นของ SoftBank Group Corp.บริษัทลงทุนของญี่ปุ่น ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอาลีบาบา พุ่งขึ้นมากกว่า 5% เมื่อวันพุธเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ Softbank เพิ่งลดสัดส่วนการถือหุ้นในอาลีบาบาลงมา เพื่อสร้างรายได้ท่ามกลางภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงในการลงทุนด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยปัจจุบัน บริษัทยังคงถือหุ้นอยู่ในอาลีบาบา 13.5%
โครงสร้างธุรกิจแบ่งเป็น 6 กลุ่มหลัก
ผู้บริหารของอาลีบาบากล่าวเมื่อวันอังคาร (28 มี.ค.) ว่าจะปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีแผนกย่อย 6 แผนก แต่ละแผนกมีซีอีโอและคณะกรรมการเป็นของตนเอง ขณะที่นายแดเนียล จาง จะยังคงรักษาตำแหน่งปัจจุบันในฐานะซีอีโอของอาลีบาบา กรุ๊ป
6 หน่วยธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยที่ทำเงิน รายใหญ่ที่สุด 6 ราย ได้แก่
ข่าวระบุว่า ซีอีโอแดเนียล จาง จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกธุรกิจ Cloud Intelligence Group ด้วย
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของอาลีบาบาครั้งนี้ สอดคล้องกับการที่นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ได้กลับมายังประเทศจีนหลังจากตระเวนออกไปพำนักในต่างประเทศมานาน 1 ปี ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่า หน่วยงานของทางการจีนซึ่งเคยจับตาตรวจสอบอาลีบาบาแบบคุมเข้มในด้านกฎระเบียบ น่าจะเริ่มผ่อนคลายการควบคุมดังกล่าวลงแล้ว ก็เป็นได้
เน้นอิสระในการตัดสินใจ ระดมทุนได้เร็วขึ้น
แถลงการณ์ของอาลีบาบาระบุว่า นี่คือการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นระยะกว่าสองทศวรรษ โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น และเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันในตลาด โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะถูกบริหารจัดการโดย CEO และคณะกรรมการบริหารเดิมของตนเอง มีความอิสระ และสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อปูทางให้แต่ละหน่วยธุรกิจสามารถที่จะแยกออกไประดมทุนทำ IPO ด้วยตัวเองได้
ก่อนหน้านี้ อาลีบาบาได้รับแรงกดดันด้านกฎระเบียบหลายปีจากปักกิ่ง ซึ่งทำให้บริษัทถูกปรับหลายระลอก และถูกสอบสวนเกี่ยวกับการละเมิดการต่อต้านการผูกขาด สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นของอาลีบาบาดำดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูญเสีย 70% ของมูลค่าหุ้นตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ.2563)
สัญญาณเชิงบวกเพิ่งจะเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อปักกิ่งส่งสัญญาณว่าจะผ่อนปรนการควบคุมยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากรัฐบาลเองก็ต้องดิ้นรนเพื่อพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถูกกัดกร่อนโดยมาตรการปิดเมือง (ล็อกดารวน์) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเป็นเวลายาวนานเกือบ 3 ปี