ค้านศรีลังกาเตรียมส่งออก"ลิงแสม"ให้จีน หวั่นถูกส่งห้องแล็บแทนสวนสัตว์ 

19 เม.ย. 2566 | 04:17 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 04:28 น.

กลุ่มนักสิทธิสัตว์ออกโรงเคลื่อนไหวหลังมีข่าวรัฐบาลศรีลังกากำลังพิจารณาเตรียมส่งออก "ลิงแสม" นับแสนตัวไปยังจีน ตามข้อเสนอบริษัทเอกชน หวั่นลงเอยที่แล็บทดลอง 


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ ได้ออกมาคัดค้าน รัฐบาลศรีลังกา วานนี้ (18 เม.ย.) หลังมีข่าวรัฐบาลกำลังพิจารณาแผนของบริษัทเอกชนของจีนรายหนึ่ง ซึ่งเสนอให้ ศรีลังกา ส่งออก ลิงแสมพันธุ์ท้องถิ่น จำนวน 100,000 ตัวให้กับจีน

ข่าวระบุอ้างอิงการเปิดเผยของนายบันดูลา กุนาวาร์ดานา โฆษกคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคมนาคมศรีลังกา เมื่อวันอังคาร (18 เม.ย.)ว่า กระทรวงเกษตรศรีลังกาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ทำการประเมินข้อเสนอของบริษัทเอกชนรายนี้ ที่เสนอให้ศรีลังกาส่งออกลิงแสมประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า toque macaque และพบได้เฉพาะที่ศรีลังกาเท่านั้น โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อนำไปจัดแสดงที่สวนสัตว์ในประเทศจีน 

ลิงแสม toque macaque พบได้เฉพาะที่ศรีลังกาเท่านั้น

รมต.กุนาวาร์ดานา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “นี่ไม่ใช่การหารือระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับรัฐบาลจีน แต่เป็นการหารือกับบริษัทเอกชนจีน” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ระบุชื่อบริษัทเอกชนของจีนรายนั้น และยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯจะประเมินข้อเสนอนี้

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลศรีลังกาได้สร้างความกังวลใจให้กับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและนักอนุรักษ์ที่ได้ออกมาเตือนว่าลิงเหล่านี้ อาจจะถูกส่งไปยังห้องทดลองมากกว่าจะไปจบลงที่สวนสัตว์ แม้ว่าศรีลังกาจะได้เงินดอลลาร์เป็นสิ่งตอบแทนมาเยียวยาประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายในรอบกว่า 70 ปีก็ตาม

หน่วยงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4 แห่งในศรีลังกา ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า จีนมีสวนสัตว์เพียง 18 แห่ง ซึ่งรองรับลิงได้ 5,000 ตัวต่อแห่งเท่านั้น

“ลิงแสมที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับศูนย์ทดสอบด้านการแพทย์ในสหรัฐ และยุโรป รายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการค้าแบบนี้จะมากกว่าการขายสัตว์ให้กับสวนสัตว์เสียอีก ... นั่นไม่ใช่จุดหมายปลายทางของเหล่าลิงแสมพวกนี้หรือ?”

ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวของศรีลังกาเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอของเอกชนจีน และให้ออกมาปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของลิงแสมเหล่านี้แทน

นอกจากนี้ พวกเขายังต้องการให้รัฐบาลจัดหาทรัพยากรเพื่อศึกษาพฤติกรรมของลิง และลดการสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตรจากการรุกรานของลิง ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่กระทรวงเกษตรศรีลังกา พิจารณาการจับและส่งออกสัตว์ชนิดนี้