สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พลเอกฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพล 4 ดาวอย่างเป็นทางการในพิธีที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 เม.ย.) โดยมีนายทหารระดับสูงมากกว่า 1,000 นายเข้าร่วมพิธีดังกล่าว
นายเตีย บัญ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ซึ่งเป็นประธานในพิธีกล่าวว่า การแต่งตั้งฮุน มาเนต เป็นนายพล 4 ดาว สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเขาในการ “รับใช้ชาติ กองทัพ และประชาชนชาวกัมพูชา”
ผู้สืบทอดอำนาจที่ไร้คู่แข่ง
ทั้งนี้ ฮุน มาเนต เป็นบุตรชายคนโตที่ดูจะเพียบพร้อมทุกอย่างและอยู่บนเส้นทางที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากบิดาอย่างไร้คู่แข่ง เขามีพี่น้องอีก 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน (และยังมีน้องสาวบุญธรรมอีก 1 คน) ฮุน มาเนต เป็นบุตรคนที่สอง แต่เป็นบุตรชายคนแรกของครอบครัว
เขาจบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบกสหรัฐ ที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1999 และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ
ฮุน มาเนต เป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรครัฐบาลกัมพูชาในฐานะ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ในอนาคต นอกจากนี้ เขายังเริ่มปรากฎตัวบนสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อสร้างช่องทางให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก ดัชนีอำนาจแห่งเอเชียที่จัดทำโดยสถาบันโลวี (Lowy Institute's Asia Power Index) ชี้ว่า ฮุน มาเนต ได้เข้าร่วมการประชุมทางการทูตร่วมกับนักการเมืองอาวุโสมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา (2565) เขาได้พบปะกับผู้นำระดับโลกและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศอื่นๆ มาแล้ว 10 คน เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ที่เขาได้พบปะกับบุคคลระดับผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลต่างชาติเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น
จากเอกสารของพรรครัฐบาลที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้รับพบว่า ขั้นตอนที่ต้องจับตามองต่อไปคือ ฮุน มาเนต กำลังเตรียมลงชิงเก้าอี้ในสภาในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนกรกฎาคมปีนี้
การวางมือที่ใกล้เข้ามา และการกวาดเก็บฝ่ายตรงข้าม
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ครองอำนาจปกครองประเทศมาเป็นเวลาถึง 38 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก เขาออกตัวอย่างเปิดเผยในการสนับสนุนบุตรชายคนโตให้ก้าวขึ้นมารับบทบาทผู้นำกัมพูชาในอนาคต
ก่อนหน้านี้ สมเด็จฮุน เซน (เขาได้รับพระราชทานคำนำหน้านี้จากกษัตริย์กัมพูชา คำเรียกเต็ม ๆ คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน) ส่งสัญญาณมาหลายครั้งว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงที่ผ่านมา แต่ล่าสุด ก็ได้ประกาศว่า เขาจะลงชิงชัยอีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ (กรกฎาคม 2566)
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2561 พรรครัฐบาลของนายกฯ ฮุน เซน ได้เสียงในสภา “ทุกที่นั่ง” หลังจากศาลสูงกัมพูชาสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party - CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไปในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีถัดมา ด้วยข้อกล่าวหาพยายามล้มล้างรัฐบาล
และเมื่อเดือนที่แล้วมานี้เอง (มี.ค.2566) ศาลกัมพูชาได้พิพากษาลงโทษนักการเมืองฝ่ายค้าน คือนายเขม โสกา หัวหน้าพรรค CNRP ให้ถูกกักตัวภายในบ้านเป็นเวลา 27 ปี จากความผิดก่อกบฏหวังล้มล้างรัฐบาล รวมทั้งยังสั่งปิดสื่ออิสระที่มีเหลืออยู่เพียงหยิบมือในกัมพูชาไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากทำรายงานข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับฮุน มาเนต
ปลายปี 2564 สมเด็จฮุน เซน ประกาศสนับสนุนพลเอกฮุน มาเนต บุตรชายคนโต ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ขณะเดียวกันนั้น เขาก็ปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่า เขากำลังสร้างตระกูลการเมืองขึ้นมาในกัมพูชา โดยย้ำว่าพลเอกฮุน มาเนต จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป “โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง”
ทั้งนี้ สมเด็จฮุน เซน ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในประเด็นการใช้อำนาจศาลเพื่อกำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ได้ออกโรงปกป้องความสำเร็จของบุตรชาย ว่าความสำเร็จของฮุน มาเนตนั้น เป็นผลผลิตจากการศึกษาและการฝึกฝน ไม่ใช่เพราะเขาเป็นลูกชายนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ สมเด็จฮุน เซน ยังปัดคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเกื้อหนุนเครือญาติในแวดวงการเมืองกัมพูชาด้วย
สื่อเคยถามว่า เขาจะครองอำนาจต่อไปอีกยาวนานแค่ไหน ฮุน เซน ตอบว่า เขาจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศไปจนกว่าจะรู้สึกว่าสมควรจะหยุด และถ้าหากจะมีใครกล่าวหาว่าเขากำลังพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการสร้างตระกูลการเมืองเพื่อดันบุตรชายตนเองขึ้นเป็นผู้นำ เขาก็จะปกป้องการสนับสนุนดังกล่าวว่า ประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีตระกูลการเมืองเช่นกัน อย่างเช่นตระกูล "อาเบะ" ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมาหลายชั่วอายุคน
ปัจจุบัน พรรค Cambodian People’s Party หรือ CPP ของเขาซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ครองที่นั่งทั้ง 125 ตำแหน่งในรัฐสภากัมพูชา สถานะที่มั่นคงนี้ ทำให้ฮุน เซน มั่นอกมั่นใจว่า พรรคของเขาจะได้ปกครองกัมพูชาในอีกนับร้อยปี
ประโยคเด็ดที่หลายคนจำได้ดีก็คือ ฮุน เซนเคยกล่าวกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่า คงต้อง “รอถึงชาติหน้า” หากต้องการจะขึ้นครองอำนาจแทนตัวเขา