ความกังวลใจของภาคธุรกิจเอกชน หลังรับทราบ ผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา นั่นคือชัยชนะของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างสะดวกราบรื่น ขณะที่ภาคเอกชนต้องการจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อจะสร้างความมั่นใจได้ว่าไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองมากพอ
สิ่งที่พวกเขาคาดหวังจะได้เห็นแต่ก็หวั่นๆใจไปด้วยในขณะเดียวกันก็คือ ความหวังที่จะได้เห็นรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้ง ยังคงเดินหน้าโครงการหลักๆทางด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลชุดก่อนได้ริเริ่มไว้ รวมทั้งการผ่านร่างงบประมาณอย่างสะดวกราบรื่น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ
โดยในขณะนี้ พรรคก้าวไกลและพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมยังคงมีจำนวนที่นั่งในสภารวมกันไม่ถึง 376 ที่นั่งซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าพวกเขาสามารถโหวตรับรองผู้ที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งนั่นเท่ากับว่ายังอาจต้องมีการช่วงชิงอำนาจกับฝ่ายกองทัพที่มีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งอยู่ในมือ
ขอความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ
“ยิ่งการตั้งรัฐบาลใหม่ใช้เวลายาวนานเท่าไหร่ ความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยก็จะดิ่งลงไปมากเท่านั้น” เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สะท้อนความกังวลใจผ่านนิคเคอิ เอเชีย ซึ่งตีพิมพ์บทความ Move Forward's electoral surprise puts Thai businesses on edge เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขายังขยายความด้วยว่า นักลงทุนภาคเอกชนมีความหวังอย่างยิ่งว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศไทยครอบคลุมถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะรุดหน้าต่อไปโดยไม่สะดุดขัด
นอกจากนี้ เขายังหวังว่ารัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green concept) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า รักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งผ่านการรับรองในเวทีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการในอีอีซีนั้นได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท (ประมาณ 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นที่คาดหมายว่า ในปีนี้ (2566) ยังจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาอีกราว 300,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายแขนงต่างๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ ไบโอพลาสติก อุปกรณ์การแพทย์ และรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานและประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) กล่าวกับนิคเคอิ เอเชียว่า สภาอุตสาหกรรมฯกำลังจัดทำเอกสารแสดงท่าทีของธุรกิจเอกชน (position paper) เพื่อยื่นเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเนื้อหาจะครอบคลุมถึงประเด็นที่เป็นความวิตกกังวลของภาคเอกชนและสิ่งที่พวกเขาต้องการเสนอแนะต่อรัฐบาล “สิ่งที่พวกเรากังวลมากที่สุดคือเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับปัจจุบัน”
ในส่วนของรัฐบาลชุดก่อน(ซึ่งยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการในปัจจุบัน) ได้มีการอนุมัติในหลักการงบประมาณปี 2567 (ตุลาคม 2566 ถึงกันยายน 2567) มูลค่า 3.35 ล้านล้านบาทไปแล้ว ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการให้การรับรองโดยสภาผู้แทนฯชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดสภาในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้การรับรองรายชื่อส.ส.ใหม่ทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการปรับใหม่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังระบุจะตัดการใช้จ่ายของรัฐที่ทางพรรคเห็นว่าไม่จำเป็น เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการสวัสดิการด้านต่างๆ
รักษาคำสัญญาต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนต้องการจะเห็นก็คือ รัฐบาลชุดใหม่ที่มีแนวนโยบายที่ชัดเจน ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงรวมทั้งนักวิชาการต้องการให้รัฐบาลผสมที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ดำเนินการสิ่งที่ให้คำมั่นไว้ตอนหาเสียงโดย พิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย
เช่นที่พรรคก้าวไกลให้คำมั่นว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันในทันทีที่ได้เป็นรัฐบาลจาก 345 บาทเป็น 450 บาท และจะมีการปรับขึ้นทุกปี รวมทั้งคำสัญญาว่าจะให้เงินอุดหนุนบุตรแรกเกิดเดือนละ 1,200 บาทและเงินเบี้ยคนชราเดือนละ 3,000 บาทนั้น จะทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณเพิ่มถึง 650,000 ล้านบาท
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่า รัฐบาลใหม่ควรต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังในการร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่ โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสศช.กล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะหลายนโยบาย(ที่ระบุไว้ตอนหาเสียง) จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และนั่นจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้นนั้นอาจทำให้บริษัทต่างชาติพิจารณาโยกย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นแทน
การก่อความไม่สงบจะทำลายการฟื้นตัว
ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ลงทุนรายใหญ่ยังคงรอดูผลพวงจากการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ว่าจะออกมารูปใด ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวที่อัตรา 2.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า วาณิชธนกิจโกลด์แมนแซคส์เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงทิศทางขยายตัวได้ดีหากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากเกิดความขัดแย้งหรือเหตุสะดุดขัดทางการเมืองขึ้นมา หรือมีการคัดค้านผลเลือกตั้ง นั่นก็จะเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดการประท้วง การชุมนุม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ด้านสถาบันวิจัย Capital Economics ให้ความเห็นว่า ถ้าไทยกลับเข้าสู่ภาวะชุมนุมประท้วงและก่อเหตุไม่สงบขึ้นมาอีก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะถูกสกัดคว่ำลงในทันที เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
Move Forward's electoral surprise puts Thai businesses on edge