วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง “โผครม.” พรรคร่วมรัฐบาลได้คุยกันอย่างไรหรือไม่ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกัน รวมถึงเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ ด้วย อย่างไรก็คงต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง
ส่วนความคืบหน้าในการลงเอ็มโอยูของพรรคร่วมรัฐบาลวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) นายประเสริฐ กล่าวว่า ได้ส่งรายละเอียดในส่วนของพรรคเพื่อไทยไปให้พรรคก้าวไกลแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ก่อนที่จะมีการแถลงร่วมกัน ก็จะมีการนัดหมายเพื่อสรุปอีกครั้ง
สำหรับเอ็มโอยู เบื้องต้นสนับสนุนให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ คนที่ 30 และให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนในข้ออื่นๆ ก็จะเป็นการเขียนหลักการในภาพรวม ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมาก เช่น เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ , ความเหลื่อมล้ำ , รายได้ เป็นต้น มองว่าเอ็มโอยูควรลงรายละเอียดกว้างๆ ไว้ก่อน ส่วนการลงรายละเอียดลึกควรเป็นนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา
ด้าน นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวถึงร่างเอ็มโอยูพรรคร่วมรัฐบาล 9 พรรค 13 ข้อ ว่า ตนสนับสนุนทุกข้อ เพราะขณะนี้ไม่มีประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับเอ็มโอยูที่เตรียมแถลง ในวันที่ 22 พ.ค. พรรคร่วมรัฐบาลต้องหารือและร่วมกันลงนาม ตนมีประเด็นที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมต่อการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ซึ่งมีข้อเสนอในส่วนของที่ดิน ส.ป.ก.4-10 หรือหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปกิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ขอให้พิจารณาการตกทอดไปยังลูก หรือหลาน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้
เพราะตนเจอปัญหากรณีที่ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่มีบุตรคนเดียว และประกอบอาชีพพนักงานราชการ ซึ่งไม่ใช่อาชีพที่สามารถได้รับสิทธิครอบครองต่อได้ และกรณีของที่ดิน ภ.บ.ท.5 ซึ่งเป็นที่ดินทำกิน แต่ไม่มีหลักฐานการครอบครอง หรือโฉนด มีเพียงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีดอกหญ้า ดังนั้นควรพิจารณาให้สามารถออกเป็นโฉนดครอบครองได้
"ในร่างเอ็มโอยูทั้งหมดไม่มีปัญหา ผมรับหลักการได้ทั้งหมด เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้นำเข้ามา" นายเชาวฤทธิ์ กล่าว