เกาหลีเหนือกระตุกหนวดพญาอินทรี จ่อส่ง “ดาวเทียมสอดแนม”สู่อวกาศ

30 พ.ค. 2566 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 23:33 น.

ทางการเกาหลีเหนือประกาศพร้อมส่งดาวเทียมสอดแนมทางการทหารดวงแรกขึ้นสู่อวกาศในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อจับตาความเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐอเมริกา

 

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ รายงานวานนี้ (30 พ.ค.) ระบุ เกาหลีเหนือจะปล่อย ดาวเทียมสอดแนมทางทหาร ดวงแรกขึ้นสู่อวกาศในเดือนมิ.ย.2566 เพื่อจับตาความเคลื่อนไหวทางทหารของ สหรัฐอเมริกา

ถ้อยแถลงดังกล่าวไม่ได้ระบุวันเวลาที่แน่นอน แต่เกาหลีเหนือได้แจ้งให้ทางการญี่ปุ่นทราบถึงแผนการยิงจรวดว่าจะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 11 มิ.ย. นี้ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องเตรียมระบบป้องกันขีปนาวุธให้พร้อมใช้งาน

นายรี พยองชอล รองประธานคณะกรรมาธิการทหารของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือเป็นผู้แถลงข่าวการปล่อยดาวเทียมดังกล่าว พร้อมประณามการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ว่าเป็นการแสดงความทะเยอทะยานในการรุกรานอันสิ้นคิดอย่างโจ่งแจ้ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐได้ทำการซ้อมรบร่วมเสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบ โดยเรียกการซ้อมรบดังกล่าวว่า เป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางการทหารและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นการกระตุ้นให้เกาหลีเหนือจำเป็นต้องมีปฏิกริยาโต้ตอบ

นายรีกล่าวว่า การซ้อมรบร่วมหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา(ของสหรัฐและเกาหลีใต้) ทำให้เกาหลีเหนือจำเป็นต้องมี "วิธีการที่สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของศัตรูได้แบบเรียลไทม์"

นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ (ภาพข่าว KCNA)

รายงานข่าวของสื่อเกาหลีเหนือระบุว่า เกาหลีเหนือได้พัฒนาดาวเทียมสอดแนมทางทหาร (military spy satellite) ดวงแรกสำเร็จแล้ว และ นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือก็ได้อนุมัติการเตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการปล่อยจรวดเรียบร้อยแล้วด้วย

ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าจะยิงสกัดขีปนาวุธใด ๆ ก็ตามที่เป็นภัยต่อดินแดนมาตุภูมิ พร้อมระบุว่า การปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อย่างร้ายแรง

นายโยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันอังคาร (30 พ.ค.) ว่า ถึงแม้เกาหลีเหนือจะเรียกการปล่อยจรวดว่าเป็นการปล่อย “ดาวเทียม” แต่มันก็เป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ห้ามเกาหลีเหนือไม่ให้ยิงเทคโนโลยีขีปนาวุธใดๆขึ้นสู่อากาศ

ด้านนายลิม ซู-ซุก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวประณามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือในเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่าเป็นเรื่องเหลวไหลที่เกาหลีเหนือหยิบยกเรื่องการซ้อมรบร่วมและท่าทีของสหรัฐที่มีต่อการคุกคามด้วยขีปนาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ มาเป็นเหตุในการปล่อยดาวเทียมสอดแนมทางทหารขึ้นสู่อวกาศ เขากล่าวว่า เกาหลีใต้ขอให้เกาหลีเหนือยุติแผนดังกล่าว และถ้าหากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้า ก็จะได้รับการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจากเกาหลีใต้

ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า การปล่อยขีปนาวุธใดๆ รวมทั้งการปล่อยดาวเทียม ถือเป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติ

เกาหลีเหนือทดลองยิงจรวดขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปรุ่นใหม่ “ฮวาซอง-18”ในเดือนเมษายน (ภาพจากสำนักข่าวเคซีเอ็นเอ)

ทั้งนี้ หากเกาหลีเหนือปล่อยดาวเทียมสอดแนมทางการทหารขึ้นสู่อวกาศในเดือนมิ.ย.นี้ ก็จะเป็นถือเป็นการปล่อยจรวดครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือที่กระทำต่อเนื่องมาตลอด โดยครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน เมื่อมีการทดลองยิงจรวดขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปรุ่นใหม่ “ฮวาซอง-18” ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชนิดแข็งที่เกาหลีเหนืออ้างว่าจะช่วยยกระดับศักยภาพในการโจมตีตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์อย่างมีนัยสำคัญ

นายคิม จองอึน ที่ได้เดินทางไปมอบคำแนะนำในการยิงทดสอบขีปนาวุธในครั้งนั้นด้วยตนเอง ได้ออกมากล่าวเตือนไปยังสหรัฐและเกาหลีใต้ว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้จะทำให้บรรดาศัตรูของเกาหลีเหนือต้องเผชิญกับวิกฤตด้านความมั่นคงที่ชัดเจน และเกิดความกังวลและหวาดกลัวอย่างสุดขีด (extreme uneasiness and horror) เพราะอาวุธดังกล่าวจะช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถโจมตีตอบโต้ได้อย่างรุนแรง จนกระทั่งพวกศัตรูต้องยอมหยุดความคิดและการกระทำที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในส่วนของดาวเทียมสอดแนมดวงแรกที่กำลังจะถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในเดือนมิ.ย.นั้น จะช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถยกระดับในการสอดแนมข้อมูลจากทางอวกาศ และช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถล็อกเป้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแม่นยำมากขึ้นในกรณีที่เกิดสงคราม  

นอกจากนี้ การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ยังหมายความว่า เกาหลีเหนือจะมีความสามารถในการยิงขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกห้ามภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า ดาวเทียมของเกาหลีเหนือน่าจะต้องบินผ่านน่านฟ้าทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2016 เมื่อกรุงเปียงยางส่งดาวเทียมสังเกตการณ์โลกขึ้นสู่วงโคจร โดยกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้สั่งหน่วยสกัดกั้นขีปนาวุธทางทะเลและทางบกให้เตรียมยิงวัตถุใดก็ตามที่พิจารณาแล้วอาจเป็นภัยต่อประเทศให้ตกลงได้ทันที

ทั้งนี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้สั่งการให้รัฐบาลรวบรวมข้อมูลและทำการวิเคราะห์รายละเอียดทุกอย่างของการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือครั้งนี้ด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง