รู้จักภูเขาไฟ “มายอน” ที่กำลังปะทุรุนแรงในฟิลิปปินส์

13 มิ.ย. 2566 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2566 | 01:58 น.

ฟิลิปปินส์อพยพประชาชนแล้วเกือบ 13,000 คนออกจากพื้นที่เสี่ยง หลังภูเขาไฟ “มายอน” เริ่มพ่นลาวาและควันร้อนพวยพุ่งออกมา นี่คือภูเขาไฟที่ยังมีพลังมากที่สุดของฟิลิปปินส์

 

ภูเขาไฟ "มายอน" (Mayon) ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติในจังหวัดอัลเบ (Albay) บนเกาะลูซอนของ ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังถูกเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ได้เริ่มพ่นลาวาลงมาตามทางลาดของภูเขาตั้งแต่เมื่อคืนวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) และมีการปะทุถี่ขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตเห็นควันไฟพวยพุ่งจากปล่องภูเขาไฟขึ้นไปบนท้องฟ้า ขณะเวลากลางคืนจะเห็นลาวาหรือหินหลอมเหลวสีแดงเพลิงไหลเป็นทางออกมาจำนวนมาก

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประชาชนอย่างน้อย 12,800 คนที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจนอาศัยอยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟแห่งนี้ ต้องอพยพออกไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้ มีแนวโน้มขยายพื้นที่อพยพประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากการปะทุของภูเขาไฟรุนแรงมากขึ้น

ภูเขาไฟมายอนพ่นลาวาออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.)

เทเรสซิโต บาโคคอล ผู้อำนวยการสถาบันภูเขาไฟวิทยาและแผ่นดินไหววิทยาฟิลิปปินส์ (The Philippine Institute of Volcanology and Seismology) หรือ Phivolcs เปิดเผยว่า ลาวาได้เริ่มไหลออกจากปากปล่องภูเขาไฟตั้งแต่เมื่อคืนวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) และทางการกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการขั้นต่อไปของภูเขาไฟ "สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้ คือการปะทุที่พรั่งพรูออกมา เรากำลังติดตามเฝ้าดูสถานการณ์แบบวันต่อวัน"

ภูเขาไฟที่มีพลังมากที่สุด

"มายอน" เป็น ภูเขาไฟ ที่ยังคงมีพลังมากที่สุดของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่า "วงแหวนแห่งไฟ" (Ring of Fire) แห่งแปซิฟิก ซึ่งเป็นเขตรอยเลื่อนแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดส่วนใหญ่ของโลก ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดพายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนบ่อยครั้ง

ภูเขาไฟมายอนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติจังหวัดอัลเบ บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์

ภูเขาไฟมายอนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติจังหวัดอัลเบ บนเกาะลูซอน ห่างจากกรุงมะนิลาราว 330 กิโลเมตร มีรูปทรงสมมาตรสง่างามแบบธรรมชาติเหมือนภูเขาไฟฟูจิของญี่ปุ่น และติด 10 อันดับสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติ มีความสูง 2,462 เมตร เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 24 ลูก ที่ยังไม่ดับ และเคยปะทุอย่างรุนแรงครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2561 ทำให้ต้องอพยพประชาชนในครั้งนั้นจำนวนหลายหมื่นคน

ในเวลาปกติที่ภูเขาไฟไม่มีการปะทุ บริเวณพื้นที่ต่ำกว่าภูเขาไฟจะถูกระบุว่าเป็นเขตอันตรายถาวร แต่ประชาชนหลายพันคนก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ เพราะพวกเขายากจนและไม่รู้ว่าจะหนีไปไหน ขณะที่นักภูเขาไฟวิทยาระบุว่า การพ่นลาวาเป็นสัญญาณของการปะทุที่ถี่ขึ้น สังเกตได้จากที่มีเหตุหินถล่มราว 260 ครั้งใน 24 ชั่วโมง เทียบกับก่อนหน้านี้ที่มี 177 ครั้้งใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีสถิติที่บันทึกได้คือ 21 ครั้ง เมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา แต่ครั้งก่อนหน้ามีแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

ความเสี่ยงด้านสุขภาพ คือการสูดดมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นละอองเถ้าถ่านที่ถูกภูเขาไฟพ่นออกมา

เมื่อวันเสาร์ (10 มิถุนายน 2566) ภูเขาไฟมายอนยังพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur dioxide) ออกมาถึง 3 ครั้ง ซึ่งจากถ้อยแถลงของนายทีโอโดโร เฮอร์โบซา รัฐมนตรีสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ เมื่อวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) พบว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้คนที่อยู่ใกล้พื้นที่การปะทุ เนื่องจากพวกเขาต้องสูดดมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นละอองเถ้าถ่านที่ถูกภูเขาไฟพ่นออกมา

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันจันทร์ (12 มิ.ย.) การเตือนภัยยังอยู่ในระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ หมายความว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทุที่เป็นอันตราย ในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือหลายวันข้างหน้า