ทีมกู้ภัยเร่งค้นหาเรือดำน้ำไททันแข่งกับเวลา คาดออกซิเจนพอใช้ไม่ถึง 40 ชม.

20 มิ.ย. 2566 | 20:17 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 23:31 น.

เผย 5ชีวิตในเรือดำน้ำไททันที่หายไปใต้ทะเลลึกขณะดำชมซากเรือไททานิกนอกชายฝั่งแคนาดาเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) หนึ่งในนั้นคือซีอีโอ “โอเชียนเกตฯ”ที่ให้บริการทัวร์เรือดำน้ำครั้งนี้ด้วย

 

ปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททัน (Titan) เรือดำน้ำเชิงพาณิชย์เพื่อการเที่ยวชม ซากเรือไททานิก ที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกนอกชายฝั่งแคนาดา ของ บริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์ (OceanGate Expeditions) ซึ่งขาดการติดต่อกับทางบริษัทอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น) ยังคงดำเนินอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลา เนื่องจากคาดว่าออกซิเจนที่มีอยู่ภายในเรือดำน้ำไททันจะเหลือน้อยลงทุกที และคาดว่าจะเพียงพอหล่อเลี้ยงลมหายใจของผู้ที่อยู่ในเรืออีกเพียงราว ๆ 40 ชั่วโมงเท่านั้น

เรามาดูกันว่า ปฏิบัติการค้นหามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง 

  • ทีมกู้ภัยชายฝั่งและกองทัพอากาศแคนาดาได้ร่วมกันค้นหาทั้งทางน้ำและทางอากาศ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อภารกิจ และทัศนวิสัยการมองเห็นไม่ดีนัก ในวันอังคาร (20 มิ.ย.) หน่วยปฏิบัติการยามชายฝั่งของสหรัฐและแคนาดาที่ร่วมกันปฏิบัติการครั้งนี้ ยังค้นหาเรือดำน้ำดังกล่าวไม่พบ
  • หลังจากการค้นหาระดับผิวน้ำเป็นรัศมีกว้างไม่พบร่องรอยของเรือดำน้ำไททัน ทีมค้นหาเริ่มการดำลงใต้ทะเลความลึก 13,000 ฟุต ท่ามกลางสภาพอากาศหมอกหนา และมีคลื่นสูง 3-6 ฟุต
  • คาดว่า ออกซิเจนในเรือดำน้ำไททัน ณ วัน 20 มิ.ย.จะเหลือเพียงพอสำหรับการหายใจราว ๆ 40 ชั่วโมง
  • บ๊อบบี้ โชลลีย์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐที่มาร่วมปฏิบัติการค้นหายอมรับว่า นี่คือการงมเข็มในมหาสมุทร แต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้จุดที่เรือดำน้ำดำดิ่งลงไป ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการค้นหา และพวกเขายังคาดหวังว่าจะสามารถใช้ระบบโซนาร์ค้นหาวัตถุใต้น้ำ

ข่าวระบุนายสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์ คือ 1 ใน 5 คนที่อยู่ในเรือดำน้ำไททัน (ภาพจาก OceanGate Expeditions)

  • เรือดำน้ำไททันมีการติดต่อกับเรือโพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ซึ่งเป็นเรือแม่ (ดัดแปลงมาจากเรือตัดน้ำแข็ง) ที่นำเรือดำน้ำไททันออกจากชายฝั่งไปยังจุดปล่อยเรือเพื่อการดำดิ่งสู่ใต้สมุทรครั้งสุดท้ายเวลา 11.47 น. ของวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) แต่หลังจากดำลงไปชั่วโมงกว่าๆ ก็ขาดการติดต่อ และไม่ได้ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำในเวลา 18.10 น. ตามกำหนด มีการแจ้งเหตุดังกล่าวต่อหน่วยงานยามชายฝั่งในเวลา 18.35 น.ของวันเดียวกันนั้น ก่อนที่การค้นหาจะเริ่มขึ้น
  • ทางโอเชียนเกตฯได้ติดต่อบริษัท แมกเจลแลน (Magellan) ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการทำแผนที่และถ่ายภาพความคมชัดสูงใต้ทะเลลึก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับการสำรวจและดำน้ำถ่ายภาพเรือไททานิกที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรบริเวณนั้นมาร่วมภารกิจค้นหาเรือดำน้ำไททันด้วย แต่ปัญหาติดอยู่ว่า การนำอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบริษัทแมคเจลแลนเพื่อการนี้ ต้องบรรทุกมาทางเครื่องบินเพื่อหย่อนลงตรงจุดที่จะดำลงสู่ซากเรือ จึงทางบริษัทติดต่อขอความสนับสนุนไปยังกองทัพอากาศสหรัฐและอังกฤษว่าจะสามารถนำเครื่องบินทหาร C-17 Globemaster III มาสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทยังไม่ได้รับคำตอบ

เรือแม่ต้องนำเรือดำน้ำไททันออกไปสู่จุดที่จะดำลง ภาพนี้โพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันเสาร์ (17 มิ.ย.) โดยฮามิช ฮาร์ดิง  หนึ่งในผู้ที่เดินทางไปกับเรือไททัน

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรือดำน้ำลำนี้

  • เรือดำน้ำไททันมีขนาดความยาวราว 21 ฟุต หรือเทียบเท่ารถตู้ 1 คัน น้ำหนัก 23,000 ปอนด์ ภายในมี 5 คน ประกอบด้วยกัปตันเรือหรือผู้ควบคุมเรือ 1 คน อีก 4 คนเป็นผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวที่เรียกว่า mission specialists (ผู้เชี่ยวชาญในภารกิจ) เรือดังกล่าวเริ่มดำลงใต้น้ำเพื่อการชมซากเรือไททานิกไปประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาทีก่อนจะขาดการติดต่อ และจนถึงขณะนี้ นับว่าหายไปกว่า 2 วันแล้ว
  • ตัวเรือทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ประสิทธิภาพสูงและไททาเนียม แต่บางชิ้นส่วนก็ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เช่นคอนโซลควบคุมการเล่นวิดีโอเกม ภายในเรือมีอุปกรณ์ยังชีพ (life support) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสำหรับ 5 คน นาน 70- 96 ชั่วโมง หรือสูงสุด 4 วัน
  • เรือดำน้ำไททัน เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กประเภท submersible ซึ่งแตกต่างจากเรือดำน้ำเต็มรูปแบบ (submarine) ตรงที่ต้องอาศัยเรือแม่นำออกไปปล่อยเมื่อถึงจุดที่ต้องการดำดิ่งลงไป มันมีพลังงานสำรองน้อยกว่าและอยู่ใต้น้ำได้ไม่นานเท่าเรือดำน้ำขนาดใหญ่กว่า

เรือดำน้ำไททัน เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กประเภท submersible

  • การสื่อสารระหว่างเรือไททัน และเรือแม่ สามารถทำได้ด้วยการส่งข้อความ (text messages) ผ่านระบบกำหนดตำแหน่งเสียงใต้น้ำแบบเบสไลน์สั้นพิเศษ (USBL) ซึ่งโดยปกติพวกเขาต้องติดต่อกันทุกๆ 15 นาที หรือถี่กว่านั้นในกรณีจำเป็น
  • ทริปดำดิ่งลงใต้สมุทรเพื่อชมซากเรือไททานิคของเรือดำน้ำไททันจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10 ชั่วโมงตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งในจำนวนชั่วโมงดังกล่าวนั้น เฉพาะการดำลงจากผิวน้ำสู่ก้นสมุทรใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่ง

นอกจากผู้ควบคุมเรือแล้ว มีใครบ้างในทริปนี้

จากซ้ายไปขวา ฮามิช ฮาร์ดิง , ชาห์ซาดา ดาวูด , พอล-อังรี นาเจอเรต และสต็อกตัน รัช (ภาพข่าวซีเอ็นเอ็น)

  • เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการค้นหา และบริษัทโอเชียนเกตฯ ไม่ได้เปิดเผยชื่อของผู้ที่อยู่ในเรือดำน้ำไททัน แต่ชื่อที่ทุกคนอยากรู้ถูกเปิดเผยโดยโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์จากมิตรสหายและสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า นายสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์ ผู้เป็นเจ้าของเรือดำน้ำและเป็นบริษัทผู้จัดทัวร์ท่องเที่ยวชมซากเรือไททานิก เป็น 1 ใน 4 ผู้โดยสารที่เดินทางไปกับทริปนี้ แต่ทางบริษัทยังไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้เมื่อผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นสอบถามเข้าไป
  • ส่วนคนอื่นๆ ได้แก่ นายฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจชาวอังกฤษ ประธานบริษัทการบิน แอคชัน เอวิเอชัน (Action Aviation) ซึ่งบริษัทของเขาเป็นผู้ยืนยันว่า ฮาร์ดิงคือหนึ่งในผู้ที่เดินทางไปกับเรือไททัน เขาเป็นผู้บริหารที่ชื่นชอบการผจญภัย ล่าสุดปีที่ผ่านมา ฮาร์ดิงเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ออกท่องอวกาศไปกับจรวดบลูออริจิน (Blue Origin)
  • ทั้งนี้ 1 วันก่อนขาดการติดต่อ ฮาร์ดิงยังเขียนข้อความบอกเล่าทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสำรวจซากไททานิคกับบริษัทโอเชียนเกตฯ ในฐานะ mission specialist และขณะเขียนอยู่นี้เรือดำน้ำของเขาก็กำลังดำดิ่งลงใต้สมุทร
  • อีกสามคนคือ นายชาห์ซาดา ดาวูด มหาเศรษฐีชาวปากีสถาน และ นายสุไลมาน ดาวูด บุตรชายของเขา ซึ่งครอบครัวดาวูดเป็นผู้ยืนยันการเดินทางมากับเรือดำน้ำไททันของบุคคลทั้งสอง
  • คนสุดท้ายคือ Paul-Henri Nargeolet นักดำน้ำชาวฝรั่งเศส เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรือไททานิค เขาดำน้ำไปสำรวจซากเรือยักษ์นี้ทุกปี และไปมาแล้วมากกว่า 37 ครั้ง

จนถึงขณะนี้ ทุกคนที่ติดตามข่าวการค้นหาเรือดำน้ำไททันยังภาวนาให้พวกเขาทั้ง 5 กลับมาได้อย่างปลอดภัย  

ข้อมูลอ้างอิง