หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน ของ จีน ได้เชิญชวนนักลงทุนรายใหญ่ของโลกเข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่จัดโดยสมาคมจัดการกองทุนของจีน หรือ Asset Management Association of China (AMAC) ในสัปดาห์หน้า (21 ก.ค.) โดยพยายามสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน ท่ามกลางบริบทที่เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่ชะลอลง ขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กลับเพิ่มมากขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวระบุ การประชุมที่กรุงปักกิ่งในวันศุกร์หน้า (21 ก.ค.) จะมุ่งเน้นไปที่สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งบริษัทที่ลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในจีนกำลังเผชิญอยู่ ตลอดจนปัญหาและความท้าทายหลักๆที่มี
รอยเตอร์ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่นักลงทุนและธนาคารทั่วโลกต่างก็เตือนว่าความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนกำลังถดถอย การฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แผ่วกำลังลงอย่างรวดเร็ว และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐก็อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากปัญหาความมั่นคงของชาติที่เกี่ยวข้องกับหลายๆประเด็น ซึ่งรวมถึงประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน การห้ามส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐและนโยบายด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาลจีน
การประชุมดังกล่าวซึ่งมีวาระการประชุมที่ชัดเจนว่า เพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายที่บรรดาผู้จัดการกองทุนทั่วโลกต้องเผชิญในการลงทุนในจีนนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และสะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของจีนในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ
ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทไพรเวทอิควิตี้ (PE) หรือที่รู้จักในชื่อหุ้นส่วนทั่วไป (GPs) และนักลงทุนหรือหุ้นส่วนจำกัด (LPs) รวมถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติและกองทุนบำเหน็จบำนาญ คาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
เวทีนี้ยังจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การให้คำแนะนำเพื่อช่วยจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจในจีนกำลังเผชิญอยู่ และแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จากมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 ในช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา มีผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 3% ในปี 2565 ซึ่งถือว่า เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จากนั้นจึงเพิ่งจะดีดตัวขึ้นในช่วงต้นปีนี้ (2566) หลังจากที่รัฐบาลจีนตัดสินใจยกเลิกการควบคุมโควิด-19 อย่างกะทันหัน(โดยก่อนหน้านั้นมีการชุมนุมประท้วงใหญ่ตามเมืองต่างๆอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน) อย่างไรก็ตาม การกระเตื้องขึ้นนั้น ดูจะเกิดเพียงวูบเดียวแล้วก็แผ่วกำลังลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นมา ขณะที่ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐ และชาติมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น
แหล่งข่าวยังเผยกับรอยเตอร์ด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ยังมีขึ้นในขณะที่บริษัทประเภทไพรเวทอิควิตี้(PE) บางรายและนักลงทุนกำลังพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกลยุทธ์ในจีนของพวกเขาหลังจากที่เวลาผ่านมาเนิ่นเนานหลายปี ประกอบกับในระยะหลังๆนี้ รัฐบาลจีนยังมีนโยบายกำกับและควบคุมบริษัทเอกชนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี และโอกาสการลงทุนก็แคบลง
ยกตัวอย่าง กองทุนบำนาญที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของแคนาดาอย่าง Ontario Teachers’ Pension Plan (OTPP) กล่าวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณายุติการลงทุนโดยตรงใหม่ๆในสินทรัพย์ส่วนบุคคลในจีนเป็นการชั่วคราว
ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ดัชนีหุ้นจีนของ MSCI ลดลง 2% ในปีนี้ เทียบกับการเพิ่มขึ้น 15% สำหรับหุ้นโลก ขณะที่เงินหยวนก็ทรงตัวที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน กดดันให้นักลงทุนบางส่วนปิดกลยุทธ์จีน นอกจากนี้ การระดมทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐโดยบริษัทร่วมทุนที่มุ่งเน้นจีนและบริษัท PE ในปีนี้ มีครึ่งปีแรกที่อ่อนแอที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
บริษัทไพรเวทอิควิตี้ที่เน้นประเทศจีน ระดมทุนได้เพียง 5,500 ล้านดอลลาร์ในการระดมทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งห่างไกลจากจุดสูงสุดที่เคยระดมทุนได้ 27,600 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลจีนส่งสัญญาณว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และจูงใจนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น เช่นมาตรการกดดันและกวาดล้างบริษัทเทคโนโลยีที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎกติกาที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ได้ยุติความยุ่งยากที่เคยมีมาแล้ว ด้วยการจ่ายค่าปรับ ซึ่งรวมถึงการเรียกปรับบริษัทเทนเซนท์ และแอนท์ กรุ๊ป ที่ถูกปรับในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ ทำให้ตลาดหุ้นจีนดีดตัวขานรับในเชิงบวกในทันที
อีกความเคลื่อนไหวที่เป็นการส่งสัญญาณที่ดีสำหรับนักลงทุน ก็คือการที่นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ได้มีการพบปะพูดคุยกับผู้บริษัทแผนกธุรกิจคลาวด์ของบริษัทอาลีบาบา และบริษัทเหม่ยถวน (บริษัทรับส่งอาหารยักษ์ใหญ่ของจีน) เมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) เพื่อขอความร่วมมือให้บริษัทเอกชนรายใหญ่เหล่านี้พยายามร่วมกระตุ้นและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนให้รุดหน้าไปด้วยกัน
ข้อมูลอ้างอิง